กรุงเทพฯ 27 ต.ค. 63 – กรมสรรพากรร่วมสถาบันการเงิน 11 ธนาคาร นำนวัตกรรมระบบหักภาษี ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e- Withholding Tax มาใช้ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นเรื่องง่าย พร้อมให้สิทธิพิเศษลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 2% จนถึงสิ้นปี 64 ชี้ไม่กระทบจัดเก็บรายได้เข้าคลัง
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การนำ e- Withholding Tax มาใช้นั้น จากเดิมที่ผู้จ่ายเงินต้องยื่นแบบแสดงรายการและนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้สรรพากร และจัดทำเอกสารหลักฐานหนังสือรับรองให้ผู้รับเงินเอง จะเปลี่ยนมาเป็นการให้สถาบันการเงิน หรือ ธนาคารเป็นตัวกลางดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทน ซึ่งช่วยลดขั้นตอน ลดต้นทุน ลดปัญหาเรื่องของเอกสารสำหรับใช้ลดหย่อนภาษีสูญหาย และยังได้รับสิทธิ์ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 2% ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2564 นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล สามารถจำกัดสิทธิการเข้าถึงและเปิดเผยข้อมูลได้ โดยได้เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่1 ตุลาคม 2563 เป็นต้มมา
พร้อมยืนยันว่า การลดการจัดเก็บภาษี ณ ที่จ่ายดังกล่าว ซึ่งอยู่ในส่วนของการจ้างทำของ หรือ ค่าจ้าง ซึ่งในปีภาษีที่ผ่านมา การจัดเก็บในอัตรา 3% กรมฯ จะมีรายได้ประมาณ 40,000 ล้านบาท ซึ่งการลดการจัดเก็บลงเหลือ 2% จะทำให้เงินหายไปประมาณ 7 พันล้านบาท แต่ยืนยันว่าจะไม่กระทบกับรายได้ในภาพรวมของกรมสรรพากร เนื่องจากภาษีที่ถูกหักในส่วนดังกล่าวจะมีการยื่นขอคืนในช่วงปลายปีอยู่แล้ว ซึ่งในทางกลับกันยังส่งผลดีต่อสภาพคล่องของผู้รับเงินที่ถูกหักภาษีลดลงด้วย
ด้านนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยขยายโครงสร้างทางภาษีของภาคธุรกิจให้เชื่อมกับระบบการชำระภาษี e – Withholding Tax ผ่านระบบ จะช่วยให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนการดำเนินงาน ไม่ต้องจัดเก็บเอกสารและสามารถตรวจสอบได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านบริการธนาคารสมาชิก 9 ธนาคาร และ 2 ธนาคารต่างประเทศที่มีสาขาในไทยที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ยังเตรียมต่อยอดข้อมูลด้านธุรกิจมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่สามารถรองรับการขยายไปสู่ภาษีประเภทอื่นด้วย
สำหรับระบบ e – Withholding Tax ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้อง 4 ฝ่าย คือ ผู้จ่ายเงิน ธนาคารผู้ให้บริการ ผู้รับเงินซึ่งเป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และกรมสรรพากร โดยผู้จ่ายเงินจะจ่ายผ่านธนาคารพร้อมแจ้งข้อมูลที่กำหนด เมื่อธนาคารได้รับเงินแล้วจะออกหลักฐานเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้จ่ายเงินและผู้รับเงิน พร้อมทั้งจ่ายเงินหลังหักภาษีให้แก่ผู้รับเงิน และนำส่งข้อมูลและภาษีที่หักไว้ไปยังกรมสรรพากรภายในเวลาไม่เกิน 4 วันทำการ ถัดจากวันที่ธนาคารได้รับเงิน จากนั้นกรมสรรพากรจะออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้จ่ายเงิน กรณีนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายขาดไป ผู้จ่ายสามารถนำส่งภาษีเพิ่มเติมผ่านระบบนี้ได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้สามารถตรวจสอบหลักฐานหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย ได้ตลอดเวลาที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th . – สำนักข่าวไทย