กรุงเทพฯ 14 ต.ค.- ตำรวจใช้กำลังกว่า 14,000 นาย ดูแลความเรียบร้อยการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เน้นป้องกันไม่ให้มีการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มที่มีความเห็นต่าง
พันตำรวจเอกกฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า หลังจากผู้ชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า คณะราษฎร ปรับเปลี่ยนเวลานัดหมายการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากช่วงบ่ายมาเป็นช่วงเช้า ตำรวจได้จัดกำลังตำรวจควบคุมฝูงชน 99 กองร้อย หรือ ประมาณ 14,000 นาย และจะมีการปรับกำลังตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย เน้นป้องกันไม่ให้มีการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มที่มีความเห็นต่าง และป้องกันมือที่สามฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ พร้อมย้ำว่า ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ไม่อนุญาตให้มีการพักค้างคืน ซึ่งจากนี้ จะมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับแผนได้อย่างเหมาะสม
รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังยืนยันว่า การควบคุมตัว 21 แกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุม บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากมีการกระทำผิดซึ่งหน้า ทั้งการมั่วสุม ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในภาพรวม ตำรวจได้มีการแจ้งเตือน ขอร้อง เจรจา ก่อนนำไปสู่การเข้าควบคุมตัว เพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลาย และไปกระทบสิทธิการใช้ชีวิตประจำวันของผู้อื่น พร้อมดำเนินคดีเบื้องต้น 10 ข้อหา ได้แก่
1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โทษจำคุกไม่ 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกันในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) กระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
4. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวางหรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
5. พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114 ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร โทษปรับไม่เกิน 500 บาท
6. พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
7. พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 12 ร่วมกันขูด กระเทาะ ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ บนถนน โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
8. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
9. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท
10. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเจ้าพนักงาน โทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในฐานะแกนนำ คือ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคท้าย ซึ่งระบุว่าเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ ข้อกล่าวหาร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงาน ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมแล้วทำให้่จตุภัทร์ถูกแจ้งทั้งหมด 12 ข้อหา ซึ่งช่วงเช้าวันนี้ พนักงานสอบสวน จะนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไปยื่นฝากขังต่อศาลต่อไป
สำหรับการประกันตัวเป็นให้เป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวน ส่วนการชุมนุมก่อความวุ่นวาย บริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน ว่ามีผู้ใดกระทำผิดบ้าง ซึ่งตำรวจได้บันทึกข้อมูลหลักฐานไว้ทั้งหมดแล้ว แต่ยังไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีกับใคร
รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทางโดยรอบอนุสาวรียืประชาธิปไตย 5 เส้นทาง ได้แก่ ถนนราชดำเนินกลาง ถนนดินสอถนนหลานหลวง ถนนตะนาว และสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เนื่องจาก อาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุม พร้อมย้ำว่า ตำรวจไม่ใช่คู่ขัดแย้ง แต่เป็นการทำหน้าที่ตามกฎหมาย พร้อมขอความร่วมมือให้ผู้ชุมนุมปฎิบัติตนตามกรอบของกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น .-สำนักข่าวไทย