19 ม.ค. – พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นวันที่สอง
วันนี้ (19 ม.ค.68) เวลา 18.10 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปอาคารอเนกนิทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประจำปีการศึกษา 2565 เป็นวันที่สอง ในระดับปริญญาตรี สาขาวิชาศึกษาศาสตร์, วิทยาการจัดการ, วิทยาศาสตร์สุขภาพ, มนุษยนิเวศศาสตร์, รัฐศาสตร์, เกษตรศาสตร์และสหกรณ์ และนิเทศศาสตร์ และพระราชทานเข็มทองคำตรีศร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาที่ได้รับปริญญาเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ซึ่งผลการเรียนได้คะแนนยอดเยี่ยม
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จัดการเรียนการสอนในระบบการศึกษาทางไกล โดยใช้วิธีการศึกษาผ่านสื่อประสมต่าง ๆ เปิดสอนหลักสูตร จำนวน 93 หลักสูตร 5 ระดับ ได้แก่ ระดับปริญญาเอก ปริญญาโท ปริญญาตรี ประกาศนียบัตรบัณฑิต และประกาศนียบัตร ได้พัฒนาการจัดการเรียนการสอน และพัฒนาวิชาการ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ทั้งพัฒนาการให้บริการของมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง อาทิ ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการดำเนินงานด้านการศึกษาวิจัย เพื่อนำผลการวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการแก้ปัญหาวิกฤตของชาติ, เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ให้บริการวิชาการแก่สังคมตามความต้องการของประชาชน และหน่วยงานภายนอก ทั้งในภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาตนเอง และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ขยายและกระชับความสัมพันธ์กับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ และองค์กรระดับนานาชาติ ด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นการพัฒนามหาวิทยาลัยในด้านวิชาการ และพัฒนาบุคลากร รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมไทย ด้วยการร่วมมือกับชุมชน สังคม และทุกท้องถิ่นทั่วไทย
สำหรับปีการศึกษา 2565 มีผู้สำเร็จการศึกษาในทุกระดับ รวมทั้งสิ้น 9,664 คน ซึ่งเมื่อวานนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประจำการศึกษา 2565 เพื่อเป็นแนวในการประพฤติปฏิบัติตน ความสำคัญตอนหนึ่งว่า “บัณฑิตทั้งหลายได้ศึกษาเล่าเรียน จนครบถ้วนแล้วตามหลักสูตร ถือได้ว่ามีความรู้พื้นฐาน และความรู้ตามสาขาวิชาของแต่ละคนเป็นอย่างดี ต่อไปภายหน้า เมื่อจะทำการสิ่งใด จึงต้องกระทำให้สมกับที่เป็นผู้มีความรู้ คือต้องนำความรู้ไปใช้ในการคิด พิจารณา การประพฤติปฏิบัติ และการแก้ไขอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ ให้สำเร็จผลเป็นความดีความเจริญ ทั้งแก่ตนเอง สังคม และประเทศชาติ แต่ละคนก็จะมีชีวิตที่มีคุณค่า และความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา ก็จะเป็นคุณเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงและยั่งยืน”.-211-สำนักข่าวไทย