กทม. 29 ก.ย.-สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้รับการรับรอง ISO/EC 17025 เวอร์ชั่น 2017 จาก สมอ. ถือเป็นหน่วยงานของไทยที่ได้ใบรับรองนี้ พร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทย
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. รับมอบใบรับรองความสามารถห้องปฎิบัติการ มอก.17025-2561 (ISO/EC 17025 : 2017 ) จากนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ.
สำหรับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง หรือ ศทร. หน่วยงานกลางในการทดสอบวัสดุ ชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์โลหะ และชิ้นส่วนระบบราง ถือเป็นหน่วยงานแรกของไทยที่ได้รับการรับรอง ISO/IEC 17205 เวอร์ชั่น 2017 ด้านระบบราง ตามมาตรฐาน BSEN 13230, BSEN 13481 และ BSEN 13146 ครอบคลุมผลิตภัณฑ์หมอนคอนกรีต หมอนประแจ และเครื่องยึดเหนี่ยวราง โดยที่ ศทร. สามารถทดสอบได้ครบทุกรายการ
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่าการได้รับการใบรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ ผู้ผลิตชิ้นส่วนทางด้านยานยนต์ และชิ้นส่วนระบบรางในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้เห็นถึงศักยภาพในการให้บริการทดสอบด้านระบบรางของประเทศไทยที่มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่ง วว. พร้อมใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยผลิต และส่งออกสินค้าในภูมิภาค สนับสนุนการพัฒนาโลจิสติกส์ประสิทธิภาพสูง สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้ประเทศไทย นับเป็นอีกฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
ดร.อาณัติ หาทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) กล่าวถึงผลการดำเนินของในรอบปี 2563 ว่า ศทร. ผลงานเด่นเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ บริการทดสอบให้แก่โครงการก่อสร้างรถไฟของกระทรวงคมนคม 15 สัญญาโครงการ โดยชิ้นส่วนที่ให้บริการทดสอบ อาทิ ตาข่ายเสริมกำลังดิน วัสดุในงานก่อสร้าง หมอนคอนกรีต หมอนประแจ ราง รอยเชื่อมราง ประกับราง ชิ้นส่วนสะพานรถไฟ โครงเสาระบบจ่ายไฟเหนือศีรษะ ชิ้นส่วนรางสาม ล้อ เพลาล้อ โบกี้บรรทุกตู้สินค้า แท่งห้ามล้อ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถขยายงานบริการทดสอบไปยังผู้ประกอบการในภูมิภาคและต่างประเทศ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เวียดนาม เมียนมา มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมทั้งยังดำเนินงานในด้านการยกร่างมาตรฐาน พร้อมเตรียมแผนเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทดสอบด้านระบบขนส่งทางรางในปี 2564 อาทิ บริการทดสอบและพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบ และตรวจสอบระบบรางระดับสากลครอบคลุมรถไฟทุกระบบทั้งความเร็วปานกลางและความเร็วสูง.-สำนักข่าวไทย