กรุงเทพฯ 19 ก.ย..-บอร์ด กพฐ.มีมติ ไม่ให้โรงเรียนใช้วิธีสอบเข้าชั้น ป.1 แต่ให้สอบสัมภาษณ์ผู้ปกครองแทน ลดความเครียดเด็ก เตรียมเสนอ”รัฐมนตรีศึกษาธิการ” พิจารณาพร้อมกำหนดแผนการ รับนักเรียนปี 64 ม.1 และม.4 ไม่เกิน 40 คนต่อห้อง ห้ามเพิ่มห้องเรียนเด็ดขาด ส่วนปี 65 จะเหลือเพียง 35 คนต่อห้อง
นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พร้อมด้วยผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธาน เพื่อหารือและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของ สพฐ.
และร่างนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2564
นายเอกชัย กล่าวว่าที่ประชุมได้หารือถึงร่างนโยบาย และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ประจำปี 2564 ที่ประชุมมีมติให้การรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หรือ ม.1 และ มัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือ ม.4
ในปีการศึกษา 2564 จำกัดการรับนักเรียนจำนวนไม่เกิน 40คนต่อห้อง ห้ามมีการขยายห้องเรียนอย่างเด็ดขาด
ส่วนการรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอให้ยกเลิกหลักเกณฑ์การรับนักเรียนกรณีนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษ เช่น นักเรียนที่อยู่ในความอนุเคราะห์ของผู้บริจาคที่ดินเพื่อจัดตั้งโรงเรียน นักเรียนที่เป็นผู้ยากไร้และด้อยโอกาส นักเรียนที่เป็นบุตรราชการครูและบุคลากรของโรงเรียน นั้น ยังคงให้มีการรับแบบเงื่อนไขพิเศษตามเดิม
ที่ประชุมยังมีมติให้การรับนักรียนในปีการศึกษา 2565 จำกัดจำนวนนักเรียนไม่เกิน 35 คนต่อห้องด้วยเช่นกัน เนื่องจากที่ประชุมเห็น ว่าปัจจุบันนี้อัตราการเกิดของเด็กลดน้อยลง และอนาคตหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจะเปลี่ยนเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ดังนั้นการจำกัดจำนวนนักเรียนต่อห้อง โดยห้ามขยายห้องเรียนเพิ่มจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนในห้องเรียนมากขึ้น และครูได้ดูแลด็กอย่างทั่วถึง จะทำให้เด็กที่พลาดโอกาสจากโรงเรียนอัตราการแข่งขันสูงได้ไปอยู่โรงเรียนคู่ขนานที่มีศักยภาพเหมือนโรงเรียนดัง
ส่วนการรับนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 หรือ ป.1 ที่ประชุมมติ ห้ามใช้วิธีการสอบแข่งขันเข้าเรียนชั้นป.1 ในโรงเรียนสังกัดสพฐ.อย่างเด็ดขาด โดยจะให้ใช้วิธีการสอบสัมภาษณ์ผู้ปกครองแทน รวมถึงการจับฉลากเข้าเรียนของเด็ก ป.1 ต่อจากนี้ไปจะเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองมาจับฉลาก เข้าเรียนแทนบุตรหลาน เนื่องจากแพทย์เด็กด้านจิตวิทยามองว่า ทำให้เด็กเกิดความเครียดจากการแข่งขันส่งผลทางด้านอารมณ์และจิตใจของเด็ก ที่ผ่านมายอมรับว่าการเข้าเรียน ป.1 ในโรงเรียนบางแห่ง ยังมีการสอบแข่งขันเกิดขึ้นในหลักสูตรห้องเรียนEnglish Progarm (EP) และ Intensive EnglishProgram (IEP) จนทำให้ผู้ปกครองต้องส่งบุตรหลานของตัวเองไปกวดวิชา
อย่างไรก็ตาม สพฐ.จะนำข้อสรุปจากที่ประชุมกพฐ.เสนอนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณา หากนโยบายดังกล่าวไม่มีการปรับเปลี่ยน สพฐ.จะนำไปจัดทำเป็นปฏิทินและแนวปฏิบัติการรับนักเรียนต่อไป.-สำนักข่าวไทย