สำนักข่าวไทย 14 ก.ย.-“นพ.ยง” ลุ้นประวัติศาสตร์การผลิตวัคซีนโควิด-19 สิ้นปีนี้รู้ผล เร็วกว่าปกติถึง 10 เท่า
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ว่า โควิด-19 การพัฒนาวัคซีน ถ้ามองย้อนไปถึงสมัย เอดเวิร์ด เจนเนอร์ ได้ปลูกฝีให้กับเด็กคนแรก ในปี 2339 เพื่อป้องกันฝีดาษ โดยสังเกตจากหญิงรีดนมที่เป็น ฝีดาษวัว แล้วไม่เป็นฝีดาษคน และเป็นผู้ใช้ศัพท์คำว่าวัคซีน ซึ่งมาจากภาษาลาตินแปลว่า วัว
ต่อมาในสมัย หลุยส์ ปาสเตอร์ เมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว ได้มีคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สามารถสร้างภูมิต้านทานป้องกันโรคได้ ทั้งที่ท่านไม่ได้เป็นแพทย์ ท่านก็ไม่ได้มีวิธีการขั้นตอน เริ่มจากสัตว์ทดลอง แล้วมาทดลองในคนระยะที่ 1 2 3 แต่วัคซีน ที่ใช้แบบสมัยของหลุยส์ ปาสเตอร์ หลายคนคงเคยรู้ว่า ฉีดรอบสะดือ 17-21 เข็ม และมีอาการข้างเคียงมาก
สามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ แต่อาการข้างเคียงก็อาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน วิธีดังกล่าวจึงได้เลิกใช้
ในปัจจุบันการศึกษาวัคซีน ไม่ใช่บอกว่ากระตุ้นภูมิต้านทานได้แล้ว ในสัตว์ทดลอง แล้วบอกว่าทำได้แล้ว ยังมีขั้นตอนการทดสอบความเป็นพิษ ทดสอบความปลอดภัยในระยะต่างๆ
การศึกษาในมนุษย์จะต้องใช้ข้อมูลพื้นฐานที่มีการทดลองอย่างดีและการเตรียมวัคซีนอย่างดีในขั้นทดลองในสัตว์ทดลอง ก่อนจะมาถึงการศึกษาความปลอดภัยในมนุษย์ จึงใช้ระยะเวลาการศึกษายาวนาน กว่าจะได้วัคซีนใหม่ แต่ละตัวโดยเฉลี่ยถึง 10 ปี แต่เมื่อมาถึงโรคระบาดที่มีความรุนแรงและรวดเร็ว ทุกคนจึงต้องทำงานแข่งกับเวลา จึงมีการศึกษาวิจัยในแต่ละขั้นตอนให้รวบรัดขึ้น แต่ก็ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก
วัคซีน โควิด-19นี้ สามารถรู้ผลได้ภายในสิ้นปีนี้ ก็ถือว่าทำเร็วกว่าปกติเป็น 10 เท่าทีเดียว จะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์การผลิตวัคซีน
ในอดีตการคิดค้นวัคซีนจะใช้บุคคลคนเดียว หรือกลุ่มเล็ก แต่ในปัจจุบัน เป็นไปไม่ได้แล้ว การทำงานจะต้องทำเป็นทีมใหญ่ ใช้หลายศาสตร์มารวมกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากที่สุด .-สำนักข่าวไทย