ดีเอสไอ 8 ก.ย.- นักศึกษาอาชีวะกว่า 100 ราย ร้อง ดีเอสไอ ถูกหลอกลงทะเบียนเรียน สุดท้ายเรียนจบแต่ได้วุฒิปลอม
ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม นำนิสิตนักศึกษากว่า 100 ราย เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอ พร้อมด้วย นายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ , นายสุเทพ แก่งสันเทียะ รองเลขาธิการคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา และ นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ผู้อำนวยการกอง ธุรกิจการเงินนอกระบบ ดีเอสไอ กรณีถูกหลอกจากการโฆษณาทั้งระบบคอมพิวเตอร์และแอปพลิเคชันไลน์ในการเปิดสอนหลักสูตร ปวช. และ ปวส. ของกระทรวงศึกษาธิการจากวิทยาลัยเทคโนโลยี จ.ชัยนาท แต่เมื่อจบการศึกษากลับได้วุฒิบัตรปลอม
นายสงกานต์ เปิดเผยว่า วิทยาลัยเทคโนโลยี จ.ชัยนาท ได้เปิดสอนหลักสูตรการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. ในวิทยาเขตนอกพื้นที่เป็นศูนย์การเรียนหลายจังหวัด เช่น สมุทรสาคร เพชรบุรี นครสวรรค์ ราชบุรี สมุทรปราการ และ นครปฐม โดยเปิดสอนมาเป็นเวลา 6 ปี มีนักศึกษา 4 รุ่น จำนวนกว่า 700 คน โดยนักศึกษาต้องเสียค่าลงทะเบียนเรียนเป็นจำนวนเงินกว่า 4 หมื่นบาท แต่ภาคเรียนล่าสุดระหว่างเข้ารับการศึกษาอ้างว่ามีความจำเป็นต้องเลิกกิจการกระทันหัน และปฏิเสธความรับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้มีนิสิตนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนต้องเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์
ด้าน นายเจตน์ กล่าวว่า ผู้เสียหายเป็นนักศึกษาเข้าร้องทุกข์เพิ่มเติมว่าประกาศนียบัตรจบการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. ที่กระทรวงศึกษาธิการรับรองคุณวุฒิ จากการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ พบว่าการเปิดศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวไม่ได้ขออนุญาตจากกระทรวงฯ ทำให้นักศึกษาเรียนจบหลักสูตรแต่ได้รับใบประกาศนียบัตรปลอมและไม่มีชื่อในสารบบความของผู้จบการศึกษาจริงถือเป็นการหลอกลวงประชาชน และเป็นการร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ หรือ เอกสารราชการของกระทรวงศึกษาธิการ ให้ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ จะดำเนินคดีกับผู้บริหารของวิทยาลัยเทคโนโลยี จ.ชัยนาท ให้ถึงที่สุดเพราะทำให้กระทรวงฯเสียหาย ส่วนการเยียวยานักศึกษาผู้เสียหายจะให้ไปลงทะเบียนเรียน หรือโอนหน่วยกิตเรียนกับสถาบันอาชีวะแห่งอื่นของรัฐบาลที่กระทรวงศึกษาธิการรองรับเพื่อประเมินผลออกใบวุฒิบัตรฉบับจริงต่อไป
ส่วนทาง นายสุเทพ กล่าวว่า ที่ผ่านมา นิสิตนักศึกษาได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนในแต่ละท้องที่ ปรากฏว่าคดีไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ประกอบกับคดีนี้มีความสลับซับซ้อน และลักษณะการกระทำเป็นกระบวนการแบ่งหน้าที่กันทำและเป็นขั้นเป็นตอน ตลอดจนมีผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากและหลายหน่วยงานในการร่วมกันโฆษณาหลอกลวงประชาชนที่มีความตั้งใจที่จะศึกษาเล่าเรียนเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของตนและคุณวุฒิทางการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับในหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนแต่กับถูกหลอกลวงให้เสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมากนับเป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อแวดวงทางการศึกษาของไทย จึงมาร้องทุกข์ ดีเอสไอ เพื่อพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ
ด้าน พ.ต.ท.กรวัชร์ เปิดเผยว่า จะสอบสวนรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นกับกรณีดังกล่าวก่อน หากเข้าหลักเกณฑ์จะนำเรื่องสู่คณะกรรมการคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาเป็นคดีพิเศษต่อไป.-สำนักข่าวไทย