สธ. 2 ก.ย.- กระทรวงสาธารณสุข สร้างเครือข่ายนักสันติวิธี แก้ไขปัญหาขัดแย้งในระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุข จัดการข้อร้องเรียนโดยใช้หลักการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ลดปัญหาการฟ้องร้องตามนโยบาย 2P Safety
บ่ายวันนี้ (2ก.ย.) ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการเครือข่ายนักสันติวิธีสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2563 “การเจรจาไกล่เกลี่ย : คำตอบของการจัดการความขัดแย้ง” เพื่อเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ นำเสนอนวัตกรรมจากปฏิบัติงานการไกล่เกลี่ย สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านสันติวิธี บรูณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมีผู้รับผิดชอบงานรับเรื่องร้องเรียนและเจรจาไกล่เกลี่ยในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มหาวิทยาลัยทุกแห่ง คณะกรรมการไกล่เกลี่ยส่วนกลางและภูมิภาค ผู้รับผิดชอบงาน 2P Safety ประจำเขตสุขภาพ 13 เขต และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน
นพ.ยงยศ กล่าวว่า ปัจจุบันการร้องทุกข์และฟ้องร้องทางการแพทย์จากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ และมีแนวโน้มความขัดแย้งเพิ่มขึ้น มีความหลากหลายของปัญหา สิ่งสำคัญที่พบและน่าเป็นห่วงคือปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีการฟ้องร้อง สธ.จึงมีนโยบายในการพัฒนาระบบคุณภาพความปลอดภัยของผู้ป่วย (Patient Safety) ตามหลักการของ 2P Safety ให้ครอบคลุมตั้งแต่การป้องกันการเกิดปัญหาจนถึงการจัดการเมื่อเกิดปัญหา และมอบหมายให้ศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข จัดตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยของกระทรวงสาธารณสุขและเขตสุขภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งเมื่อมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์โดยใช้หลักการเจรจาไกล่เกลี่ย สื่อสารทำความเข้าใจระหว่างคนไข้และญาติกับบุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงและสามารถยุติได้โดยเร็ว
นอกจากนี้ได้มอบประกาศนียบัตรให้กับผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพสู่นักสันติวิธีสาธารณสุข เมื่อวันที่ 21-26 เมษายน 2562 จำนวน 48 คน
ทั้งนี้ กลุ่มระงับข้อพิพาททางการแพทย์ กองกฎหมาย สำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุข รวบรวมข้อมูลสถิติการฟ้องร้อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539-2563 (ณ วันที่ 30 เมษายน 2563) มีคดีแพ่ง 352 คดี คดีอาญา 44 คดี คดีปกครอง 4 คดี มีคดีแพ่งและคดีผู้บริโภคอยู่ในศาลรวม 50 คดี (เป็นทุนทรัพย์คดีทั้งหมดประมาณ 3,357 ล้านบาท) อยู่ในศาลขั้นต้น 22 คดี ศาลอุทธรณ์ 22 คดี ศาลฎีกา 6 คดี
สำหรับคดีผู้บริโภค ตั้งแต่ 23 สิงหาคม 2551 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 รวม 219 คดี ไกล่เกลี่ยได้แล้ว 136 คดี .-สำนักข่าวไทย