กทม.26 ส.ค.- โฆษกศาล แจ้งข้อผิดพลาดทางธุรการ ยืนยัน มีออกหมายจับ “บอส วรยุทธ” 3 ข้อหา พร้อมแจงเหตุต้องเพิกถอนหมายจับเดิม แล้วออกหมายจับใหม่
นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงกรณีเกิดความสับสนในการแจ้งข้อมูลการออกหมายจับนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ว่าเดิมเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2560 ตำรวจ สน.ทองหล่อ ขอศาลอาญากรุงเทพใต้ ออกหมายจับนายวรยุทธ อยู่วิทยา ใน 2 ข้อหา คือ ขับรถประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรแก่ผู้ได้รับความเสียหายและไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานในทันที ต่อมาหลังอัยการสั่งให้ตำรวจสอบสวนพยานหลักฐานใหม่ เพื่อนำไปประกอบการสั่งคดี ตำรวจจึงไปยื่นขอศาลออกหมายจับใหม่ โดยเป็นการใช้ข้อหาตามหมายจับเดิม และเพิ่มข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคคาอีน) โดยผิดกฎหมาย อีก 1 ข้อหา
โดยศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาตให้เพิกถอนหมายจับเดิมเมื่อปี 2560 และให้ใช้หมายจับใหม่ที่มี 3 ข้อหาดังกล่าวได้ ส่วนที่เมื่อวานนี้(25 ส.ค.)ให้ข้อมูลไปว่ามี 2 ข้อหานั้น ยอมรับว่า เกิดจากความผิดพลาดทางธุรการ ซึ่งการออกหมายจับดังกล่าว เป็นการขอผ่านทางเอกสาร ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบทางระบบได้ ต้องไปตรวจที่ตัวเอกสารโดยตรง จึงเกิดความคลาดเคลื่อนทางข้อมูลขึ้น กรณีสังคมสงสัยว่าบางข้อหานั้นหมดอายุความไปแล้ว ก็ไม่มีผลกระทบกับการใช้หมายจับดำเนินคดี ซึ่งตำรวจสามารถพิจารณาฟ้องเอาผิดเฉพาะข้อหาที่ยังไม่ขาดอายุความได้
มีรายงานข่าวว่า เหตุที่ศาลออกหมายจับให้ 3 ข้อหา เนื่องจากในชั้นนี้ยังไม่ถึงขั้นต้องวินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่าข้อหาที่ขอออกหมายจับขาดอายุความหรือไม่
ด้านนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องมีการเพิกถอนหมายจับเดิมและออกหมายจับใหม่ เนื่องจากเป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติ สำหรับการนับอายุความในแต่ละข้อหา จะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่เกิดเหตุคือในปี 2555 จึงทำให้แต่ละข้อหาตามที่ออกหมายจับใหม่มีอายุความไม่เท่ากัน โดยคดีเสพยาเสพติดฯ จะหมดอายุความในปี 2565 ส่วนคดีขับรถโดยประมาทฯ จะหมดอายุความในปี 2570 ส่วนคดีไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือฯ มีอายุความเพียง 5 ปี จึงหมดอายุความไปแล้ว
ขั้นตอนต่อไปหลังจากที่ตำรวจทำสำนวนคดีที่สั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมเสร็จสิ้นแล้ว อัยการก็จะเร่งนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะทำงานทันที โดยจะดูว่าที่ให้สอบสวนเพิ่มเติมตามที่สั่งการไปนั้น เพียงพอฟ้องหรือไม่ เช่นว่าเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎต่อสังคมก่อนหน้านี้หรือไม่ หากพอฟ้องก็จะเร่งรัดเรื่องการติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี ส่วนเรื่องการออกหมายจับสากล เป็นหน้าที่ของตำรวจในการประสานงาน เป็นคนละส่วนกับความรับผิดชอบของอัยการ เว้นแต่จะเข้าสู่ขั้นตอนการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
นายประยุทธ อธิบายเพิ่มเติมว่า คำว่าอายุความทางคดี หมายถึงการที่ตำรวจ หรืออัยการ ต้องนำตัวผู้ต้องหาไปส่งฟ้องศาล เมื่อส่งฟ้องศาลแล้วก็จะหยุดนับอายุความ ที่สำคัญคือต้องติดตามตัวผู้ต้องหาไปส่งฟ้องศาลให้ได้.-สำนักข่าวไทย