นนทบุรี 25 ส.ค. – พาณิชย์ปรับแผนทำงานรับยุครวมไทยสร้างชาติ ใช้ทูตพาณิชย์เป็นเซลส์แมนทำงานร่วมภาคเอกชน หวังส่งออกปีนี้ติดลบแค่ร้อยละ 7 ตั้งเป้าติด Top 5 ส่งออกเอเชีย
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการหารือกับภาคเอกชนและผู้ส่งออก บางส่วนเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้นและเชื่อว่าการส่งออกไตรมาส 4/2563 จะติดลบน้อยกว่า 3 ไตรมาสของปีนี้ ทั้งนี้ ประเมินว่าการส่งออกไตรมาสสุดท้ายปีนี้ติดลบเหลือร้อยละ 5-6 จาก 7 เดือนแรกติดลบร้อยละ 7.7 ทำให้ทั้งปีมีโอกาสติดลบร้อยละ 7-9 เท่านั้น คงจะไม่ติดลบถึง 2 หลักแน่นอน
ทั้งนี้ กรมฯ ประเมินภายใต้การแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มดีขึ้น หลายประเทศกลับมาประกอบธุรกิจและคลายล็อกดาวน์ อีกทั้งสินค้าไทยมีศักยภาพเป็นที่ต้องการของประเทศผู้นำเข้า กรมและเอกชนก็เร่งจัดกิจกรรมทุกช่องทางโดยเฉพาะการจับคู่และเจรจาการค้าทางออนไลน์ ทำให้เกิดการเจรจาการค้าต่อเนื่อง ส่งผลต่อการส่งออกที่ดีต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มอาหาร เครื่องใช้การแพทย์และป้องกันโควิด สินค้าใช้ภายในบ้าน และสินค้าอุตสาหกรรมเริ่มมีคำสั่งซื้อแล้ว แต่การส่งออกจะฟื้นเร็วแค่ไหนขึ้นกับสถานการณ์การระบาดของโควิดทั่วโลก และยังเชื่อว่าจะคลี่คลายปีหน้า ปีนี้กรมจะเร่งผลักดันให้ส่งออกติดลบน้อยที่สุดและน่าจะติดลบร้อยละ 7 ผ่านต่ำสุดมาแล้ว ไม่มีการติดลบ 2 หลักอย่างที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงกัน
อย่างไรก็ตาม กรมได้ปรับแผนการทำงานรองรับยุค “รวมไทยสร้างชาติ” และเร่งรัดยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มอันดับขีดความสามารถด้านส่งออกให้เป็นอันดับ 1 ใน 5 ของเอเชียภายในปี 2570 จากปี 2562 อยู่อันดับ 8 คือ ต้องเพิ่มมูลค่าการส่งออกอย่างน้อยปีละ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นเดือนละ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปี 2562 ประเทศส่งออกอันดับของเอเชีย คือ จีนและฮ่องกง มีมูลค่ารวม 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 2 ญี่ปุ่น มูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 3 เกาหลีใต้ มูลค่า 540,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 4 สิงคโปร์ มูลค่า 390,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ5 อินเดีย มูลค่า 320,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 6 ไต้หวัน มูลค่า 305,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 7 เวียดนาม มูลค่า 260,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 8 ไทย มูลค่า 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 9 มาเลเซีย มูลค่า 238,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอันดับ 10 ตุรกี มูลค่า 180,000 ล้านดอลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ปัจจัยหนุนเป้าหมายขึ้นเป็นท็อปไฟว์การค้าเอเชีย เนื่องจากรัฐบาลให้การสนับสนุนและผลักดันให้เกิดศักยภาพการผลิต และการปรับตัวรับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีการผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) โดยเน้นอุตสาหกรรมมูลค่าเพิ่มสูง เช่น อุตสาหกรรมเกี่ยวกับดิจิทัล อุตสาหกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ รวมถึงความน่าเชื่อถือไทยในสายตาต่างชาติ ผู้ผลิตไทยปรับตัวพัฒนาสินค้ารองรับความต้องการโลกตลอดเวลา และกรมมีแผนโหมจัดกิจกรรมร่วมกับผู้ผลิตและผู้ส่งออกตลอดเวลา เช่น การนำรูปแบบออนไลน์หรือกิจกรรมไฮบริดมาใช้ส่งเสริมการเจรจาและส่งออกกับทุกกลุ่มสินค้า และให้การสนับสนุนงบประมาณกลุ่มเอสเอ็มอี ให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลก 58 แห่งทำหน้าที่เป็นเซลส์แมนของประเทศ เป็นต้น .-สำนักข่าวไทย