รัฐสภา 24 ส.ค.-“สุพล” ท้า“ยุทธพงศ์” เปิดหลักฐานอ้างบิ๊ก ป. ล็อบบี้ปมจัดซื้อเรือดำน้ำ ยอมรับหนักใจตอนตัดสินใจลงมติ เพราะสังกัดรัฐบาล ย้ำแค่มติเบื้องต้น เชื่อกมธ.งบชุดใหญ่- สภา-รัฐบาลพร้อมถอยถ้ากระแสต้านแรง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการประชุมคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจและทุนหมุนเวียน นายสุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ นัดเคลียกับนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ กรณีคณะอนุกรรมาธิการฯ เห็นชอบงบประมาณ 22,500 ล้านบาท ของกองทัพเรือ เพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน 2 ลำ โดยนายยุทธพงศ์ ชี้แจงว่า ครั้งแรกที่กองทัพเรือเข้ามาชี้แจงเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ยืนยันว่าขณะนั้นไม่มีกรรมาธิการคนใดเห็นด้วยกับการจัดซื้อเรือดำน้ำ โดยทุกคนขอให้เลื่อนไปก่อนในภาวะปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องกู้เงิน และไม่มีความจำเป็นเร่งรีบ เพราะเรือลำแรกที่ซื้อไปกว่าจะได้ก็ปี 2567
“แต่ทางกองทัพเรือกชี้แจงเหตุผลที่ต้องเร่งจัดซื้อ โดยอ้างว่ามีสัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี ที่จะต้องซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ควบไปกับลำที่ 1และอ้างว่าปีที่แล้วรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนมีข้อตกลงที่จะซื้อลำที่ 2 และ 3 ไว้ ไม่เช่นนั้นจะเสียความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจนำไปสู่การฟ้องร้องผิดสัญญาได้ แต่ที่ประชุมมีมติให้แขวนเรื่องไว้ เพราะไม่มีเอกสารสัญญาซื้อขายเรือดำน้ำลำแรกกับบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ที่รัฐบาลไทย โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกับรัฐบาลจีน จึงเป็นที่มาของการแขวนไว้” นายยุทธพงศ์ กล่าว
นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า วันที่ 21 สิงหาคม พิจารณาหนังสือสัญญาโดยพบว่า การจัดซื้อลำที่ 1 ไม่ได้ผูกพันลำที่ 2 และ 3 ซึ่งต้องทำสัญญาใหม่ พร้อมท้าให้เปิดเผยบันทึกการประชุมวันที่ 17 สิงหาคมว่าคณะอนุกรรมาธิการฯ มีใครพูดในที่ประชุมอย่างไรบ้าง ซึ่งตนได้เสนอต่อประธานว่าหากไม่สามารถลงมติได้ เพราะมีเสียงเท่ากัน 4 ต่อ 4 ควรให้ห้องประชุมคณะกรรมาธิการชุดใหญ่พิจารณา แต่กลับให้ลงมติโดยประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ เป็นผู้ชี้ขาด พร้อมย้ำว่า เห็นปัญหาปากท้องประชาชนสำคัญกว่าเรือดำน้ำ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ชุดใหญ่ จะต้องพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง
นายสุพล ยืนยันว่า วันที่ 17 สิงหาคมที่ประชุมไม่เคยลงมติให้แขวนเรื่องไว้ก่อน เป็นเพียงความเห็นที่ประชุมให้แขวนเรื่องไว้ เพื่อให้กลับมาชี้แจงใหม่พร้อมกับเอกสารที่ที่ประชุมขอไป และไม่มีปัญหาหากจะเปิดเผยบันทึกการประชุม ยอมรับว่าทุกคนให้ความเห็นเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่กองทัพเรือมาชี้แจงครั้งแรก แต่ทางกองทัพเรือก็มีเหตุผลที่ไม่สามารถเลื่อนได้ เพราะเป็นงบประมาณผูกพันปี 2563 ซี่งเป็นกฎหมายไปแล้ว แต่กองทัพเรือคืนงบเพื่อนำไปแก้ปัญหาโควิด-19 และหากยกเลิกไปอาจจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
นายสุพล กล่าวว่า เมื่อฟังการชี้แจงรอบที่ 2 ของกองทัพเรือ ถือว่ามีเหตุผล และเป็นสิทธิ์ของแต่ละคนที่จะลงมติ ไม่ควรก้าวล่วง แต่ยอมรับว่ารู้สึกอึดอัดตอนลงมติ เมื่อลงมติเสมอกัน 4 ต่อ 4 เสียง ข้อบังคับกำหนดให้ประธานชี้ขาด จึงจำเป็นทำตามข้อบังคับ ยอมรับว่าตัดสินใจลงมติเห็นชอบเพราะสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล และฟังเหตุผลของกองทัพเรือแล้วฟังขึ้น ก็เป็นสิทธิ์ของกรรมาธิการที่จะลงมติ
“จะมีกองทัพไว้ทำไม บ้านต้องมีกำแพง กองทัพก็ต้องการพัฒนาขีดความสามารถ และงบประมาณทั้งหมดไม่ได้กระทบกับงบประมาณช่วยเหลือประชาชน โดยให้จ่ายเป็นงวด ยืนยันว่ารับผิดชอบการตัดสินใจทั้งหมด ควรฟังเหตุผลของกองทัพเรือด้วย รวมถึงควรจบประเด็นในชั้นคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้แล้ว โดยให้เป็นการตัดสินในคณะกรรมาธิการฯ ชุดใหญ่ สภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลด้วย ถ้าเห็นว่าสถานการณ์ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองก็อาจจะถอยได้ ซึ่งมติของคณะอนุกรรมาธิการเป็นเพียงมติเบื้องต้นเท่านั้น ขอให้รอฟังเหตุผลที่กองทัพเรือจะชี้แจง และรอฟังการพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2564 วันที่ 26 สิงหาคมนี้” นายสุพล กล่าว
ส่วนกรณีที่นายยุทธพงศ์อ้างว่ามี นายพลชื่อย่อ ป.ล็อบบี้ นายสุพล กล่าวว่า ไม่มีการล็อบบี้หรือโทรมาในที่ประชุมจึงตัดสินใจลงมติเพราะสังกัดฝ่ายรัฐบาล ถ้าบอกว่ามีก็ต้องหาหลักฐานมาว่าล็อบบี้อย่างไร เพราะที่ลงมติเห็นชอบเป็นฝ่ายรัฐบาลทั้งสิ้น
ขณะที่นายยุทธพงศ์ กล่าวเพียงว่า อย่าขอให้บอกชื่อแล้วกัน.-สำนักข่าวไทย