กรุงเทพฯ 4 ส.ค. – สรท.กังวลเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นเร็วฉุดเศรษฐกิจไทยจากปัญหาโควิด-19 ระบาด ท้อภาครัฐยังช้าเสนอแนวทางเยียวยาภาคธุรกิจไปเกือบ 4 เดือน แต่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ฟันธงส่งออกปีนี้ติดลบแน่ร้อยละ 10
น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า จากปัญหาโควิด-19 ระบาดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ แม้ว่าไทยจะแก้ไขและป้องกันการแพร่ระบาดได้ดีและผ่อนคลายให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่จากตัวเลขจีดีพีแต่ละประเทศทั่วโลกประกาศออกมาในช่วงไตรมาส 2 หลายประเทศติดลบค่อนข้างมากรวมถึงประเทศไทย ยกเว้นประเทศจีนที่ป้องกันการแพร่ระบาดโควิดได้ดีจีดีพีเป็นบวก แต่สิ่งที่กังวลการแพร่ระบาดโควิดรอบ 2 ที่หลายประเทศกลับมาจะเป็นตัวฉุดให้จีดีพีของโลกตลอดทั้งปีไม่ดีก็เป็นไปได้ ดังนั้น รัฐบาลไทยจะต้องเร่งหามาตรการกระตุ้นภาคธุรกิจด้านต่าง ๆ เป็นการเร่งด่วน
“สรท.ยังมีความรู้สึกว่าภาครัฐไม่ค่อยจะเร่งหามาตรการใด ๆ ออกมาเยียวยาภาคธุรกิจมากนัก เพราะตั้งแต่โควิด-19 ระบาดต้นปีและมีการล็อกดาวน์ภาคธุรกิจ ในส่วนของภาคเอกชนโดยผ่านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้นำเสนอแนวทางการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ต่อรัฐบาลไปแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้เวลาผ่านไปเกือบ 4 เดือน ยังไม่เห็นมาตรการใด ๆ ออกมาช่วยเหลือภาคธุรกิจที่เป็นรูปธรรมแม้แต่มาตรการเดียว ดังนั้น หากยังเป็นเช่นนี้โอกาสที่ภาคธุรกิจส่งออกจะฟื้นตัวขึ้นจะเป็นเรื่องที่ลำบากอย่างแน่นอน”น.ส.กัณญภัค กล่าว
ทั้งนี้ หากดูตัวเลขการส่งออกเดือนมิถุนายน 2563 ยังคงติดลบอยู่ที่ร้อยละ 23.17 คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 16,444 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ติดลบร้อยละ 7.09 คิดเป็นมูลค่า 114,343 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมองว่าการส่งออกในช่วงเวลาที่เหลือยังมีโอกาสติดลบ และคิดว่าตัวเลขการส่งออกของไทยปีนี้ โดยเฉลี่ยต่อเดือนหลังจากนี้อยู่ที่ 17,899 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบร้อยละ 10 แต่หากไตรมาส 4 สามารถส่งออกได้มากกว่านี้อาจจะติดลบร้อยละ 8 ดังนั้น ทาง สรท.อยากฝากภาครัฐบาลให้เร่งดำเนินมาตรการต่าง ๆที่ภาคเอกชนเคยนำเสนอไปให้ออกมาช่วยภาคการส่งออกให้มีความชัดเจนมากขึ้นกว่านี้
นอกจากนี้ อยากให้ภาครัฐดูค่าเงินบาท ซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่จะเข้ามาดูตรงนี้ และสถาบันการเงินลดเงื่อนไขการให้สินเชื่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีและเงื่อนไขต่าง ๆ ของภาครัฐที่ควรจะแก้ไขให้ผ่อนปรนกับภาคธุรกิจในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้.-สำนักข่าวไทย