ภูเก็ต 26 ก.ค. – รัฐมนตรีพาณิชย์ชี้ช่องทางการค้ารูปแบบใหม่ แม้เจอพิษโควิด แต่ใช้อี-คอมเมิร์ซเจรจาการค้าขยายธุรกิจได้ไม่มีปัญหา
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดการอบรม E-Commerce “เศรษฐกิจทันสมัย การค้าก้าวไกลไปกับดิจิทัล” โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน มีผู้สนใจอบรมไม่เกิน 300 คนต่อรุ่น จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และปัญหาโควิด-19 ระบาดกระทบทั้งโลก ดังนั้น การประกอบธุรกิจการค้าต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออี-คอมเมิร์ซทั้งภาคธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ หรือบริการ โดยจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวจำเป็นต้องให้บริการธุรกิจผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อจองโรงแรมด้วยระบบออนไลน์
ทั้งนี้ ไม่เพียงธุรกิจด้านให้บริการท่องเที่ยวเท่านั้น อี-คอมเมิร์ซยังจำเป็นในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี โอทอป ซึ่งถือเป็นการค้าออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในยุคปัจจุบัน ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงต้องสร้างองค์ความรู้และให้ความรู้กับทุกคนที่สนใจและต้องการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคนิวนอร์มอล การอบรมการค้าออนไลน์จึงเกิดขึ้นและมีคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จไปก่อนหน้าแล้วมากมาย และขณะนี้ผู้ค้ารายย่อยจำนวนมากมีการไลฟ์สดขายสินค้าตัวเองประมาณ 10 – 20 นาที ขายได้กว่า 200,000 บาท ถือว่ากำลังเป็นที่นิยมและได้รับความสนใจกันมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงโควิด-19 ระบาด การเจรจาการค้าแบบไปพบลูกค้าในต่างประเทศค่อนข้างลำบาก แต่การขายสินค้าผลไม้ไทยนั้นหยุดนิ่งไม่ได้ แต่ด้วยระบบเจรจาการค้าผ่านออนไลน์ เมื่อวันที่ 18 – 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา เปิดเจรจาขายลำไยได้มากถึง 11,000 ตัน จากลูกค้า 8 ประเทศ มากกว่า 40-50 บริษัทที่ได้เจรจาผ่านหน้าจอนั่งเทรด จากเป้าหมายเดิมคาดว่าจะขายลำไยเพียง 11,000 ตัน หรือมีมูลค่า 550 ล้านบาท แต่เจรจาขายได้ถึง 32,000 ตัน หรือมูลค่ากว่า 2,100 ล้านบาท
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม โดยสถานการณ์โควิดส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคและผู้ประกอบการเปลี่ยนไปอย่างมาก ดังนั้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ตระหนักถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนและช่วยกันพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งยั่งยืน โดยทางกรมฯ จัดมาแล้ว 4 ครั้ง มีผู้เข้าอบรม 6,000 คน ในจังหวัดสุโขทัย อุดรธานี พัทลุง สงขลา และครั้งที่ 5 มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 600 คน มาจากกลุ่มนักศึกษาที่มีความสนใจต้องการประกอบธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ผู้ประกอบการสินค้าชุมชน โอทอป และสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำธุรกิจ ที่ผ่านมานักธุรกิจหน้าใหม่หลายรายที่ผ่านการอบรมประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วเกินกว่าอายุหรือเรียกว่านักธุรกิจอายุน้อยร้อยล้านจากลาซาด้าและแม่ค้าออนไลน์มะม่วงหิมพานต์และอีกหลายคนด้วยกัน.-สำนักข่าวไทย