นครศรีธรรมราช 20 ก.ค. – หลังมีการเปิดโปงว่า หนังสือบุด หรือหนังสือข่อย ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ถูกโจรกรรมไปหลายร้อยเล่ม ถือเป็นการโจรกรรมของโบราณคู่แผ่นดินครั้งใหญ่สุดครั้งหนึ่งของไทย เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างติดตามหนังสือโบราณเหล่านี้กลับมาเป็นสมบัติชาติ
นี่คือ ภาพวาด และตัวอักษร ซึ่งมีทั้งภาษาขอมและภาษาไทย บางส่วนที่ถูกบันทึกไว้ภายในหนังสือข่อย หรือที่ชาวปักษ์ใต้โบราณนิยมเรียกว่า หนังสือบุด มีที่มาจากคำภาษาบาลีว่า ปุฏฏก หรือหนังสือที่ทำมาจากแผ่นเปลือกไม้ โดย ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ผู้ก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมฯ เก็บรักษาหนังสือบุด ตั้งแต่ปี 2513 ให้ข้อมูลว่า หนังสือบุดเหล่านี้ บางเล่มมีอายุกว่า 100 ปี มีทั้งหมด 14 หมวด แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ บุดขาว บุดดำ และพระมาลัย เป็นสมบัติโบราณล้ำค่าคู่แผ่นดินไทย โดยหนังสือบุดที่ถูกโจรกรรมออกไปจากศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จำนวนหลายร้อยเล่ม ส่วนใหญ่เป็นพระมาลัย ซึ่งมีภาพวาดสวยงาม และบุดดำ บันทึกด้วยตัวอักษรสีทอง ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับตำรายา เวทมนตร์คาถา ฤกษ์ยาม และไสยศาสตร์
กล่องพัสดุที่เห็นอยู่จำนวน 3 กล่องนี้ ภายในบรรจุหนังสือบุด ซึ่งคาดว่ามีทั้งบุดดำ บุดขาว รวมถึงพระมาลัย ที่มีประชาชนจาก จ.ขอนแก่น ส่งไปรษณีย์มามอบคืนแก่พระครูเหมเจติยาภิบาล หลังทราบข่าวว่า หนังสือบุด ของโบราณคู่แผ่นดินไทย ถูกโจรกรรมออกไป
กล่องพัสดุที่ถูกส่งกลับมาคืนยังศูนย์รับบิณฑบาตหนังสือบุดที่ถูกโจรกรรมทั้ง 3 กล่องนี้ ผู้ส่งเป็นคนเดียวกัน ต้นทางมาจาก จ.ขอนแก่น คาดว่าภายในมีหนังสือบุดมากกว่า 10 เล่ม หน้ากล่องมีการเขียนข้อความแสดงคำขอโทษมาด้วย
พระครูเหมเจติยาภิบาล ผู้ดูแลศูนย์รับบิณฑบาตหนังสือบุดที่ถูกโจรกรรม บอกว่า เบื้องต้นจะเก็บรักษาหนังสือบุดเหล่านี้ไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารก่อน โดยจะเปิดกล่องเพื่อตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมกันในวันศุกร์นี้ ก่อนที่จะส่งกลับคืนไปเก็บรักษาในศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ต่อไป
ส่วนผู้ที่ยังครอบครองหนังสือบุดอยู่ในตอนนี้ พระครูเหมเจติยาภิบาล บอกว่า อยากขอรับบิณฑบาตหนังสือบุด เพื่อนำกลับมาคืนให้กับแผ่นดิน เนื่องจากเป็นของโบราณที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของบรรพบุรุษต่อเนื่องกันมาหลายชั่วอายุคน ผู้ที่ส่งคืนจะถือว่าเป็นมงคลแก่ชีวิตของตัวเองด้วย
การหายสาบสูญไปของหนังสือบุดจำนวนหลายร้อยเล่มครั้งนี้ นับเป็นการโจรกรรมของโบราณครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในสถานที่ราชการ ซึ่งกระทั่งถึงวันนี้ ยังไม่มีความชัดเจนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชว่า หนังสือบุด ของโบราณล้ำค่าเหล่านี้หายไปได้อย่างไร รวมถึงแนวทางการปกป้องรักษาหนังสือบุดส่วนที่เหลืออีกจำนวนหลายพันเล่ม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุโจรกรรมซ้ำรอย ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป. – สำนักข่าวไทย