เลย 10 มิ.ย.- ชาวเชียงคาน-ปากชม มารอพบ “พล.อ.ประวิตร” ลงพื้นที่จังหวัดเลย หลังจากวานนี้ได้ยื่นหนังสือคัดค้านสร้างเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว ผ่านผู้ช่วยเลขาฯ ทรัพยากรน้ำแล้ว พร้อมวอนรัฐบาลตั้งคณะทำงานพิเศษหารือรัฐต่อรัฐ เพื่อประโยชน์บริหารจัดการน้ำร่วมกัน ระบุจุดสร้างเขื่อนเป็นพื้นที่อ่อนไหวทั้งเศรษฐกิจ-สังคม-ภูมินิเวศ-วัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง
วันนี้ (10 มิ.ย.) กลุ่มชาวบ้านจากอำเภอปากชม และอำเภอเชียงคาน จ.เลย ประมาณ 20 คน เดินทางมารอยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสลงพื้นที่เปิดบ่อน้ำบาดาลแก้ปัญหาภัยแล้งที่บ้านสะอาด ต.น้ำสวย อ.เมือง จ.เลย เพื่อขอให้รัฐบาลยับยั้งโครงการก่อสร้างเขื่อนพลังไฟฟ้าสานะคาม ห่างจากปากแม่น้ำเหือง บ้านท่าดีหมี อ.เชียงคาน ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างสกายวอล์ค แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเชียงคาน เพียง 2 กิโลเมตร โดยกลุ่มชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปยื่นหนังสือได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้วางระบบดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างรัดกุม
อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (9 มิ.ย.) นายสิริวิชญ์ กลิ่นภักดี ผู้ช่วยเลขาธิการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้เดินทางมารับหนังสือเรียกร้องจากกลุ่มชาวบ้านแล้ว ณ ที่ว่าการอำเภอปากชม
นางเสาวรักษ์ ดาปี กำนันตำบลหาดคัมภีร์ อ.ปากชม ในฐานะตัวแทนชาวบ้าน ที่มารอพบรองนายกรัฐมนตรีวันนี้ กล่าวว่า เหตุที่ต้องคัดค้านการสร้างเขื่อนใน สปป.ลาว ห่างจากชายแดนไทยเพียง 2 กิโลเมตร เกรงว่าจะเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศในแม่น้ำโขงจะเปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจ วิถีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงในประเทศไทย ซึ่งชาวบ้านไม่ได้คัดค้านอย่างสิ้นเชิง เพียงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลของไทยหารือกับทางการ สปป.ลาว และจีน ให้ทบทวนย้ายจุดก่อสร้างมาที่แม่น้ำโขงบ้านหาดคัมภีร์ อ.ปากชม เพื่อให้คนไทยได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงเรื่องโครงสร้าง มาตรฐานการก่อสร้างอาจมีข้อบกพร่อง ชาวบ้านอาจได้รับผลกระทบจากเขื่อนชำรุด แตกพัง ซึ่งจุดที่เสนอไปนี้เป็นจุดเดิมที่เคยมีการสำรวจโครงการก่อสร้างเขื่อนปากชม ห่างจากจุดเดิมประมาณ 60 กิโลเมตร
ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านได้ออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนสานะคาม ยื่นต่อ พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธานคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ ระบุว่า ชาวโขงเลยมีความห่วงในความปลอดภัยด้านการออกแบบของมาตรฐานเขื่อน และการบริหารจัดการน้ำในระบบท้ายเขื่อนเป็นอย่างยิ่ง ที่ตั้งเขื่อน “สานะคาม” เป็นพื้นที่อ่อนไหวในทุกมิติทั้งทางเศรษฐกิจ-สังคม-ทางภูมินิเวศ-วัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-สิ่งแวดล้อม-และภูมิรัฐศาสตร์ด้านความมั่นคงของประเทศตลอดท้ายเขื่อน รัฐจึงควรต้องมีแผนงานเชิงระบบรองรับ ทั้งราชการส่วนกลาง-ส่วนภูมิภาค-ส่วนท้องถิ่น-เอกชน-และประชาชน เชิงระบบ ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง
พร้อมกันนี้ได้เสนอให้มีคณะทำงานพิเศษ ในพื้นที่ 2 ประเทศ เพื่อสร้างกระบวนการศึกษา ในประเด็นที่ตั้งเขื่อนทางเลือก ที่มีวัตถุประสงค์หลักสู่การบริหารจัดการน้ำเป็นสำคัญ ให้ประเด็นความต้องการไฟฟ้าเป็นประเด็นรอง และการพัฒนาพื้นที่ 2 ฝั่งน้ำร่วมกันเป็นประเด็นเสริม อีกทั้งส่งเสริมให้มีกระบวนการ ให้เป็นความร่วมมือรัฐต่อรัฐ ตั้งแต่เมือง-จังหวัด เพื่อเสนอเป็นที่สุดในระดับความเห็นชอบของ ครม.หรือรัฐสภา ของแต่ละฝ่ายเป็นที่สุด
ขณะที่สถานการณ์การท่องเที่ยวแบบเมืองโบราณของอำเภอเชียงคาน กำลังเป็นเมืองพัฒนาด้านการท่องเที่ยว-การลงทุน ที่มีรายได้ครัวเรือนปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงข้อเสนอให้เกิดความร่วมมือกัน ระหว่างหัวเมืองสองประเทศ ไปสู่ความร่วมมือทางนวัตกรรม และการบริหารจัดการน้ำที่นำไปสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และพัฒนากติกาต่างๆสู่ต้นแบบความร่วมมือพิเศษให้เป็นมรดกโลกทางนวัตกรรม วิถีชีวิตในที่สุด.-สำนักข่าวไทย