สำนักข่าวไทย 5 มิ.ย.-ผอ.มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ติงการแสดงความคิดเห็นของบุคคลมีชื่อเสียงต้องระมัดระวัง และไม่ควร “บูลลี่” เรื่องส่วนตัว ต้องเคารพสิทธิผู้อื่นและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะ ส.ส.ยิ่งต้องระมัดระวังคำพูด เพราะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่บัญญัติกฏหมาย
น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวถึงกรณี “เอ๋”ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กวิจารณ์การทำงานผลักดันกฏหมายข่มขืนและคุกคามทางเพศของ “บุ๋ม” ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ดารานักแสดงและพิธีกร จนเกิดการโต้ตอบกันผ่านเฟซบุ๊กปานปลาย กลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากในขณะนี้ ว่า การออกมาแสดงทัศนะหรือเขียนความคิดเห็น ไม่ว่าจะช่องทางใด อาทิ เฟซบุ๊ก ที่สาธารณะ การสัมภาษณ์โดยวิธีการใด ๆ ต้องเคารพผู้อื่นและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยิ่งคนที่มีหน้าที่สำคัญการพูดจา ต้องระวัง แม้ว่าจะบอกว่าเขียนในเฟซบุ๊กส่วนตัวก็ตาม แต่การไปให้ร้าย การเขียนที่พูดอธิบายลักษณะ จงใจว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือการโพสต์ภาพคนอื่นในลักษณะเสียหาย ซึ่งตามกฏหมายการนำภาพบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยไม่ได้ขออนุญาต นำไปเผยแพร่ถือว่ามีความผิด มองว่า ส.ส.เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ทั้งบัญญัติกฏหมาย แก้ไขกฏหมายต้องทำตัวเป็นแบบอย่างถือเป็นเรื่องสำคัญ
น.ส.สุเพ็ญศรี กล่าวต่อไปว่า ไม่อยากให้มองว่าเป็นการทะเลาะกันของผู้หญิง แต่เป็นความเห็นที่ไม่ตรงกัน แต่บางช่วงคำพูดอาจไม่เหมาะสม มีลักษณะหมิ่นประมาท เรื่องที่เกิดขึ้นต้องไปดูว่าสิ่งที่อีกฝ่ายโพสต์ และอีกฝ่ายได้รับความเสียหายอย่างไร แต่ในฐานะที่ตนเป็นคนทำงานด้านสังคม รู้สึกเป็นห่วง เนื่องจากทั้งคู่เป็นบุคคลมีชื่อเสียง คนหนึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง อีกคนเป็น ส.ส.ถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะ เมื่อทำอะไรก็มีคนเฝ้ามอง ซึ่งประชาชนเลือกมาทำงานด้านกฏหมาย ตรงนี้การจะโพสต์หรือพูดต้องมีวิจารณญาณ มากกว่าประชาชนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม มองว่าเรื่องที่เกิดขึ้น หากมีการพูดคุยหรือสอบถามโดยตรง จะดีกว่าแต่หากโพสต์ในขณะที่มีอารมณ์กำลังพาไป คำที่เขียนอาจก่อ ให้เกิดความสุ่มเสี่ยงก่อให้เกิดความเสียหาย การโพสต์ที่ก่อให้เกิดการกระทบกระทั้งต้องยิ่งระวัง ฝ่ายที่เสียหายสามารถใช้สิทธิปกป้อง หรือพิทักษ์สิทธิตัวเองในการฟ้องร้องดำเนินคดีได้
ทั้งนี้ ในฐานะที่ทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ การหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา เนื่องจากการคุกคามทางเพศ ที่เกิดขึ้นในหมู่นักเรียน เพื่อนฝูงหรือที่ทำงานหรือดารานักแสดง ไม่ว่าจะการพูดคุกคามหรือโพสต์ลงโซเซียล ทำให้ผู้ถูกกระทำเกิดความเสียหายทางจิตใจ หรือรู้สึกถูกดูหมิ่น กฏหมายที่มีอยู่เป็นความผิดทางแพ่ง กฏหมายอาญายังเขียนไม่ชัดเจนและบทลงโทษยังไม่รุนแรง เนื่องจากหากไม่มีกฏหมายคุกคามทางเพศอย่างจริงจัง จะนำไปสู่การข่มขืนกระทำชำเรา .-สำนักข่าวไทย