3 มิ.ย.- การประท้วงกรณีการเสียชีวิตของ “จอร์จ ฟลอยด์” ในสหรัฐ ผ่านมา 8 วันแล้ว แม้ส่วนใหญ่ผู้ประท้วงจะออกมาด้วยใจบริสุทธิ์ แต่ก็มีบางส่วนที่แฝงตัวออกมาก่ออาชญากรรม หลายแห่งกลายเป็นการจลาจลเมื่อถึงเวลากลางคืน มีผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมประท้วงแล้วอย่างน้อย 9 คน และถูกจับกุมกว่า 5,600 คน ขณะที่ออสเตรเลียและฝรั่งเศสก็มีการชุมนุมประท้วงสนับสนุนการประท้วงในสหรัฐ
ทั่วสหรัฐยังคงมีการชุมนุมประท้วงต่อเนื่องกรณีจอร์จ ฟลอยด์ ชายชาวผิวสีเสียชีวิตในระหว่างถูกตำรวจเมืองมินนิอาโปลิสควบคุมตัว การประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ หลายแห่งกลายเป็นการจลาจลเมื่อถึงเวลากลางคืน เช่น ที่นครนิวยอร์ก ในตอนกลางวันมีการชุมนุมประท้วงโดยสงบ แต่เมื่อตกกลางคืนกลุ่มผู้ฉวยโอกาสได้ออกปล้นสะดมร้านค้าต่างๆ ในขณะที่ผู้ประท้วงเข้าปะทะกับตำรวจปราบจลาจลที่เข้ามาสลายฝูงชน จนถึงขณะนี้มีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมประท้วงแล้วอย่างน้อย 9 คน และถูกจับกุมกว่า 5,600 คน
นายบิลล์ เดอ บลาซิโอ นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ประกาศเพิ่มเวลาเคอร์ฟิวออกไปอีก เช่นเดียวกับอีกอย่างน้อย 20 เมืองทั่วสหรัฐ แต่ก็มีผู้จงใจฝ่าฝืนเคอร์ฟิว เพื่อต่อต้านอำนาจรัฐ
แม้แต่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่นั่นก็มีประเด็นที่สร้างความไม่พอใจเพิ่มขึ้นมาอีกกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ เดินเท้าไปถ่ายภาพหน้าโบสถ์ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องสลายฝูงชนที่ชุมนุมกันอย่างสงบ ซึ่งกลายเป็นเรื่องใหญ่ทางการเมือง เพราะมีผู้คนและนักการเมืองที่เห็นว่าไม่ใช่ภาวะผู้นำ เป็นการประชาสัมพันธ์ตัวเองที่ไร้ประโยชน์ แม้แต่ผู้นำทางศาสนาต่างๆ ก็ยังมองว่านายทรัมป์ กระทำไม่เหมาะสม แทนที่จะสร้างความกลมเกลียวในชาติ ที่เมืองหลวงของสหรัฐ ขณะนี้ก็มีผู้ประท้วงชุมนุมล้อมทำเนียบขาวเอาไว้ โดยมีทหารเกือบ 3,000 นาย ตรึงกำลังอยู่ทั่วเมือง
ไม่เพียงแต่ในสหรัฐเท่านั้น ที่ออสเตรเลียก็มีการชุมนุมประท้วงสนับสนุนการประท้วงในสหรัฐ ซึ่งเริ่มลุกลามไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี จนถึงนิวซีแลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ด้านผู้จัดชุมนุมประท้วงกล่าวว่า การประท้วงครั้งนี้ต้องการเน้นให้เห็นว่า เหตุการณ์เช่นในสหรัฐนั้น ชาวพื้นเมืองในออสเตรเลียก็เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวของตำรวจออสเตรเลียเช่นกัน และคาดว่าในสัปดาห์นี้จะมีการประท้วงเช่นนี้ในอีกหลายที่ในออสเตรเลีย
ส่วนที่ฝรั่งเศส ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาเข้าสลายฝูงชนที่มาชุมนุมประท้วงรำลึกถึงการตายของนายอดามา ทราโอเร ชายผิวสีชาวฝรั่งเศส ในระหว่างถูกตำรวจควบคุมตัวเมื่อปี 2559 ก่อนหน้านี้ตำรวจสั่งห้ามการชุมนุม โดยอ้างว่าอาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ ส่วนน้องสาวของผู้เสียชีวิตกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐก็เกิดขึ้นในฝรั่งเศสเช่นกัน การชุมนุมครั้งนี้เป็นการประกาศโลกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในฝรั่งเศส.-สำนักข่าวไทย