กรมอนามัย แนะสถานศึกษาประเมินความพร้อม 6 มิติ ก่อน เปิดเรียน 1 กรกฎาคม 2563
.
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ตรวจเยี่ยมความพร้อมเปิดเรียน ของโรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร สังกัด สพฐ. พร้อมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงศึกษาธิการ ถึงแนวทางเพื่อผ่อนผันให้เปิดสถานศึกษา หลังสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น
.
โดยเฉพาะการปฏิบัติตนของนักเรียนและบุคลากรในสถานศึกษา และการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม อาทิ ห้องเรียน ห้องประชุม โรงอาหาร รถรับ-ส่งนักเรียน หอพักนักเรียน เพื่อให้สถานศึกษาปลอดภัยจากโรคโควิด-19 และจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้แนวทาง 6 มิติ เป็นกรอบประเมินความพร้อม ได้แก่
.
มิติที่ 1 การดำเนินงานเพื่อความปลอดภัย ลดการแพร่เชื้อโรคด้วย 6 มาตรการหลัก คือ
1) มีมาตรการคัดกรองวัดไข้และอาการเสี่ยงก่อนเข้าสถานศึกษา
2) สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาเมื่ออยู่ในสถานศึกษา
3) ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ
4) จัดให้มีการเว้นระยะห่าง
5) ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสที่มีการใช้ร่วมกันบ่อย
6) ลดความแออัด ไม่จัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสร่วมกัน
.
มิติที่ 2 การเรียนรู้ สนับสนุนสื่อความรู้ป้องกันโควิด-19 เตรียมความพร้อมการเรียนรู้ของเด็กตามวัยและสอดคล้องกับพัฒนาการ และสร้างความเข้มแข็ง ของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
.
มิติที่ 3 การครอบคลุมถึงเด็กด้อยโอกาส กลุ่มเด็กพิเศษและเด็กในพื้นที่ห่างไกลมาก
.
มิติที่ 4 สวัสดิภาพและการคุ้มครอง เตรียมแผนรองรับด้านการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนป่วย แนวปฏิบัติเพื่อลดการรังเกียจและการตีตราทางสังคม (Social stigma)
.
มิติที่ 5 นโยบาย มีแผนงาน โครงการรองรับ แต่งตั้งคณะทำงาน กำหนดบทบาทหน้าที่และสื่อสาร
.
มิติที่ 6 การบริหารการเงิน โดยพิจารณาการใช้งบประมาณสำหรับการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ตามความจำเป็นและเหมาะสม
.
นอกจากสถานศึกษาจะต้องควบคุมมาตรการและปฏิบัติตามคำแนะนำในทุกมิติแล้ว ในส่วนของผู้ปกครอง ซึ่งเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด สามารถมีบทบาทและมีส่วนร่วมกับสถานศึกษาเพื่อป้องกันโควิด-19 ได้ด้วยเช่นกัน
📷 ภาพโดย ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช ทีมช่างภาพ สำนักข่าวไทย อสมท