นนทบุรี 17 พ.ค. – สถาบันอัญมณีฯ เผยเทรนด์แหวนหมั้น 5 อันดับแรกที่เจ้าบ่าว-เจ้าสาวอยากได้ แนะผู้ประกอบการผลิตสินค้าตามใจลูกค้า มีโอกาสสร้างรายได้ พร้อมเปิดตัวแอปพลิเคชัน Carat ให้ความรู้ช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ จีไอที เปิดเผยว่า ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับของจีไอทีได้รวบรวมข้อมูลเทรนด์แหวนหมั้นที่มาแรงปี 2563 ที่เจ้าบ่าวนิยมมอบเป็นของหมั้นให้กับเจ้าสาว นอกเหนือจากแหวนหมั้นแบบคลาสสิก หรือแหวนเพชรล้อมและแหวนเพชรเรียงสามเม็ด ที่ได้รับความนิยมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยังมีแหวนหมั้นอีก 5 ชนิดที่มาแรงปี 2563 ได้แก่ แหวนที่ปรับตามความต้องการในรูปแบบเฉพาะบุคคล แหวนที่ใช้พลอยสี แหวนที่สื่อถึงจริยธรรมและความยั่งยืน แหวนเพชรที่มีรูปทรงและสีสันแปลกใหม่ และแหวนวินเทจของแท้
ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่ธุรกิจบริการสั่งทำแหวนหมั้นและแหวนแต่งงานจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ให้ความสำคัญการสวมแหวนในงานหมั้นและงานแต่ง หากผู้ประกอบการไทยศึกษาแนวโน้มของตลาดและเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคก็จะมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
สำหรับรายละเอียดแหวนหมั้น 5 ชนิด ประกอบด้วย 1.แหวนที่มีรูปแบบเฉพาะบุคคล หรือแหวนสั่งทำ จะเป็นแหวนที่มีความเฉพาะบุคคล มีความแตกต่าง ไม่มีขายทั่วไป เช่น แหวนเรียงกันหลายวงอยู่ในวงเดียว 2.แหวนที่มีพลอยสีมาเป็นส่วนประกอบ โดยพลอยสีถือเป็นกระแสหลักปี 2563 เนื่องจากราคาเอื้อมถึง และเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น การนำมอร์แกไนต์ อะความารีน และโทแพช มาจับคู่กับเพชร 3.แหวนที่ให้ความสำคัญกับจริยธรรมและความยั่งยืน เพราะคนรุ่นใหม่เชื่อว่าการปกป้องสิ่งแวดล้อมและการต่อสู้ เพื่อความยุติธรรมเป็นสิ่งสำคัญ โดยเพชรที่สามารถสืบค้นที่มาที่ไปได้ และไม่เป็นเพชรที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง (Blood Diamonds) จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น 4.แหวนเพชรที่มีรูปทรงและสีสันแปลกใหม่ อย่างเพชรรูปทรงแฟนซี ที่คนรุ่นใหม่เริ่มนิยม และหากมีอัญมณีที่เหมาะสม เพชรสีแฟนซี เช่น สีเหลือง สีชมพู และสีแชมเปญ มาประกอบ ก็จะนิยมเพิ่มขึ้น
และ 5.แหวนวินเทจของแท้ โดยผู้บริโภคกำลังมองหาสินค้าย้อนยุคอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดการออกแบบจากยุคทศวรรษ 1920 หรือยุควิกตอเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนต้องการนำเพชรและอัญมณีอื่น ๆ ที่เป็นมรดกตกทอดกลับมาประดับบนตัวเรือนยุควิกตอเรียนหรือยุคเอ็ดวอร์เดียนแบบดั้งเดิม เพราะผู้บริโภคต้องการค้นหาสินค้าที่มีความเป็นของแท้ แนวโน้มนี้จึงสะท้อนออกมาผ่านความต้องการสินค้าแบบดั้งเดิมที่มีความงดงามและถูกต้องตรงตามยุคสมัย
นอกจากนี้ ทางสถาบันฯ ได้จัดทำ Mobile Application ที่ชื่อว่า Carat “กะรัต” เพื่อบริการให้คำปรึกษาด้านอัญมณีและเครื่องประดับแบบครบวงจร โดยสามารถขอรับคำปรึกษาและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับได้ทุกที่ ทุกเวลา และได้เปิดตัวการให้บริการผ่านแอปพลิเคชันแล้วตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยจะให้บริการฟรี 6 เดือน จัดทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งด้านการตรวจสอบอัญมณี การตรวจสอบโลหะมีค่า ด้านการตลาด นักออกแบบ มาเป็นผู้ให้บริการตอบคำถาม โดยการสอบถาม ให้สังเกตหากมีเครื่องหมายออนไลน์อยู่ ผู้เชี่ยวชาญก็จะตอบให้ได้ในทันที แต่ถ้าออฟไลน์สามารถฝากคำถามไว้ได้และจะได้รับคำตอบในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตสถาบันฯ มีแผนจะเปิดให้บริการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายการประกอบธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ และการบริหารจัดการ และพร้อมให้บริการคำปรึกษาด้านเทคนิคนอกสถานที่ (Mobile Consult) เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการที่ต้องการขอรับคำปรึกษาด้านเทคนิคโดยเฉพาะ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันกะรัต (Carat Application) แพลตฟอร์มที่ปรึกษาทุกเรื่องราวอัญมณีและเครื่องประดับได้แล้วผ่านระบบ IOS และ Android หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 63 4 4999 ต่อ 635–642 ได้.-สำนักข่าวไทย