กทม. 15 พ.ค. – “บรรยง พงษ์พานิช” อดีตบอร์ดการบินไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษสำนักข่าวไทย ถึงวิกฤติการบินไทย ชี้การบินไทยยังมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เห็นด้วยที่จะให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลาย แต่ต้องแก้ให้ตรงจุด ตามแผนฟื้นฟูสามารถบริหารงานแบบเอกชนช่วยอุดช่องโหว่ปัญหาการบริหารแบบรัฐวิสาหกิจที่เปิดช่องให้แทรกแซงได้ทุกขั้นตอน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤติครั้งนี้
นายบรรยง พงษ์พานิช นักการเงิน และอดีตกรรมการ บมจ.การบินไทย บอกว่า ปีที่ผ่านมาสายการบินชั้นนำทั่วโลกล้วนทำกำไร ยกเว้นการบินไทยที่ขาดทุนไปกว่า 12,000 ล้านบาท สิ้นปีที่แล้วหนี้สินมากกว่าทุน 25 เท่า ขณะที่ปีนี้มีสถานการณ์โควิด ทำให้ 3 เดือนแรกของปี สายการบินทั่วโลกขาดทุน ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการบินไทยที่เชื่อว่าทุนติดลบไปแล้ว
แม้กิจการมีปัญหา แต่การบินไทยยังมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ แต่ต้องประเมินว่าคุ้มค่ากับเงินที่จะอุดหนุนหรือไม่ นั่นต้องขึ้นอยู่กับการจัดทำแผนฟื้นฟู ซึ่งเป็นกระบวนการสากลที่หลายสายการบินทั่วโลกเคยผ่านมาแล้ว หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เจแปนแอร์ไลน์ เคยมีหนี้สินมหาศาลสูงกว่า 1.5 ล้านล้านเยน จากสินทรัพย์ทั้งหมด 1.7 ล้านล้านเยน จนต้องประกาศขอความคุ้มครอง และยื่นขอล้มละลาย เมื่อรัฐบาลอีดฉีดเงินกว่า 350,000 ล้าน เพื่อฟื้นฟูสายการบินแห่งชาติ และเลือกคนที่เข้ามาเป็นผู้นำในการพลิกฟื้นธุรกิจให้สามารถกลับมาเข้าตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งในเวลา 2 ปีเศษ และกลายเป็นสายการบินที่มีผลประกอบการที่ยอดกเยี่ยมในปัจจุบัน
แม้มีตัวอย่างให้เห็น แต่การพลิกฟื้นการบินไทยต้องแก้ให้ตรงจุด หากรัฐบาลจะอุดหนุนเงิน 50,000 ล้าน ค้ำประกันหนี้ ย่อมไม่พอแน่นอน เนื่องจากเจ้าหนี้ทั้งหลายต่างต้องการเงินคืน แต่การยื่นฟื้นฟูกิจการจะถูกบังคับให้โปร่งใสภายใต้กฎหมายล้มละลาย เมื่อศาลรับคำร้องจะเกิดการพักชำระหนี้ทันที และขั้นตอนการพิจารณาแผนฟื้นฟูฯ ต้องมีการเสนอชื่อคณะผู้บริหารแผนด้วย ซึ่งทั้งเจ้าหนี้และศาลต้องเห็นชอบจึงจะดำเนินการตามแผนได้ และกลายเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะแก้ปัญหา ทั้งการบริหารงานแบบรัฐวิสาหกิจที่เปิดช่องให้เกิดการแทรกแซงได้ทุกขั้นตอน ทั้งระบบการทำงานภายใต้สังกัดที่เป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดวิกฤติการบินไทยในขณะนี้
ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย ส่วนหนึ่งคือการบังคับให้เจ้าหนี้เปลี่ยนหนี้เป็นทุน ดังนั้นเจ้าหนี้จะต้องมีตัวแทนเข้ามาพิจารณา เปรียบได้กับมีเอกชนเข้ามาบริหารแผน
ต้องจับตาว่าแผนฟื้นฟูที่จะเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า จะเป็นการอุดหนุนในรูปแบบการค้ำประกันหนี้ ที่อาจต่อลมหายใจได้ไม่นาน หรือจะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย ที่อาจต้องยอมทุ่มเงินเป็นแสนล้าน เพื่อหวังให้สายการบินแห่งชาติกลับมามาผงาดอีกครั้ง . – สำนักข่าวไทย