กรมราชทัณฑ์ 14 พ.ค.-ราชทัณฑ์ ประกาศกำหนดความผิดคดีอุกฉกรรจ์ ปรับชั้นนักโทษคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญเข้าใหม่ทุกราย ให้เป็นชั้นต้องปรับปรุงมาก เป็นผลให้การเลื่อนชั้นการพักการลงโทษ หรือลดวันต้องโทษช้าลง ต้องรับโทษยาวนานขึ้น ใกล้เคียงกับคำพิพากษาจากศาล ลดโอกาสออกไปกระทำผิดซ้ำ
พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ตามที่กรมราชทัณฑ์ ได้กำหนดให้นักโทษเด็ดขาดมีลำดับชั้น ซึ่งได้แก่ ชั้นเยี่ยม ชั้นดีมาก ชั้นดี ชั้นกลาง ชั้นต้องปรับปรุง และชั้นต้องปรับปรุงมาก ซึ่งแต่ละชั้นจะมีคุณสมบัติแตกต่างกันในการได้รับประโยชน์และเงื่อนไขไม่เท่ากัน ซึ่งที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ได้กำหนดให้นักโทษเด็ดขาดเข้าใหม่ทุกรายเป็นชั้นกลางทั้งหมด โดยไม่ได้มีการพิจารณาลักษณะคดี หรือพฤติการณ์ใดๆ
ในการกำหนดชั้นของนักโทษดังกล่าวจึงทำให้นักโทษเด็ดขาดบางรายที่มาในคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ หรือคดีร้ายแรงอื่นๆ แต่เป็นโทษครั้งแรก ได้รับผลประโยชน์จากการเลื่อนชั้น และสามารถรับการพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษเหมือนกับผู้ต้องขังรายอื่นๆ จนทำให้ในอดีตการพักการลงโทษดังกล่าว เป็นประเด็นในสังคมว่ามีนักโทษบางรายก่อคดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรงแต่ได้รับโทษจริงน้อยกว่าที่ควรจะเป็นมาก และออกไปกระทำผิดซ้ำสร้างปัญหาให้กับสังคมอีกครั้ง
กรมราชทัณฑ์ จึงได้เสนอประกาศกระทรวงยุติธรรม เรื่อง กำหนดความผิดในคดีอุกฉกรรจ์ คดีสะเทือนขวัญ หรือคดีที่เป็นที่สนใจของประชาชน พ.ศ.2563 เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยกำหนดนักโทษเด็ดขาดเข้าใหม่ให้จัดอยู่ในชั้นกลาง เว้นแต่กรณีนักโทษเด็ดขาดซึ่งกระทำความผิดในคดีอุกฉกรรจ์ คดีสะเทือนขวัญ หรือคดีที่เป็นที่สนใจของประชาชน ให้จัดอยู่ในชั้นต้องปรับปรุงมาก
โดยความผิดที่เข้าข่ายจัดอยู่ในชั้นปรับปรุงมาก ประกอบไปด้วยความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน ความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ และความผิดฐานผลิตนำเข้าหรือส่งออก หรือผลิตนำเข้าหรือส่งออกเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายหรือมีไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ถึงตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต
ซึ่งการพิจารณากำหนดให้เป็นชั้นที่ต่ำลง หรือชั้นปรับปรุงมากจะเป็นผลให้การเลื่อนชั้นการพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษช้าลง และต้องรับโทษยาวนานขึ้นใกล้เคียงกับคำพิพากษาจากศาล ทำให้โอกาสออกไปกระทำผิดซ้ำลดลง
นอกจากนี้ในการกระบวนการพักการลงโทษก็มีการพิจารณาที่เข้มข้นมากขึ้นในการตรวจสอบนักโทษที่อาจก่อเหตุกระทำผิดซ้ำเพื่อให้สังคมมั่นใจได้ว่านักโทษที่พ้นโทษออกไปได้รับโทษอย่างเหมาะสมแล้ว และสามารถปรับปรุงตัวได้อย่างแท้จริง
พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า การปรับปรุงการกำหนดชั้นดังกล่าวเพื่อสร้าง ความเชื่อมั่นและป้องกันผลกระทบด้านความปลอดภัยให้กับสังคมในกระบวนการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังตามหลักอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาและให้การปฏิบัติงานตามภารกิจของกรมราชทัณฑ์ ในด้านการควบคุม แก้ไขพัฒนาพฤตินิสัย เพื่อคืนคนดีสู่สังคมให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป .-สำนักข่าวไทย