กรุงเทพฯ 4 พ.ค.- กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.)
ยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารสู่อาหารอนาคต
หนุนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตแห่งอาเซียนควบคู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า
กระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 พ.ศ. 2562-2570
คาดการณ์ว่าจะเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมอุตสาหกรรมอาหารของไทยเพิ่มเป็น 1.42 ล้านล้านบาท ก่อให้เกิดรายได้ในธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านล้านบาท ครอบคลุมผู้ประกอบการในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกว่า 7.6 ล้านราย และก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารภายในประเทศกว่า 0.48 ล้านล้านบาท ทำให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตของอาเซียน
และเป็น 1 ใน 10
ของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลกภายในปี 2570
แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ประกอบด้วย 4 มาตรการ เช่น มาตรการสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food
Warriors) เป็นมาตรการสร้างผู้ประกอบการอาหารรุ่นใหม่ตลอดห่วงโซ่อุปทาน และยังยกระดับเกษตรกรให้ปลูกพืชเชิงอุตสาหกรรม
นำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตให้ตรงความต้องการของห่วงโซ่อุปทาน
โดยเฉพาะเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมมีเครือข่ายบริษัทอาหารชั้นนำ (Global
Player) และจะเชิญมาเป็นพี่เลี้ยง (Big Brother) ให้กับผู้ประกอบการ และ SMEs เพื่อบ่มเพาะแนวคิดธุรกิจและเทคโนโลยี
เพื่อผลักดันผู้ประกอบการอาหารรุ่นใหม่ไปสู่เวทีโลก
มาตรการสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต (Future Food Innovation) สู่การผลิตเชิงพาณิชย์
โดยสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทย โดยในมาตรการนี้
กระทรวงอุตสาหกรรมจะบูรณาการร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
และภาคเอกชน
มาตรการสร้างโอกาสทางธุรกิจ (New Marketing Platform) ทั้งในและต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์ม
(Platform) ที่เหมาะสมกับผู้ผลิตทุกระดับให้อุตสาหกรรมอาหารไทยมีบทบาทในตลาดโลก
โดยการเชื่อมโยงการค้าสู่สากล รวมถึงการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์
และเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์อาหารกับการท่องเที่ยว
มาตรการสร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม (Enabling)
และลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ
ที่จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 เช่น การส่งเสริมการสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับอาหารในระดับต่าง ๆ
การยกระดับ SMEs สู่มาตรฐาน (SMEs Standard) ที่เหมาะสม พร้อมสร้างระบบมาตรฐานเฉพาะ (มอก.S) การสร้างระบบมาตรฐานที่จะรองรับการพิสูจน์
(Identify) เป็นต้น
นายสุริยะ กล่าวว่า มาตรการต่าง ๆ จะทำงานในรูปแบบบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จะใช้กลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนขับเคลื่อน
ผ่านคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.)
เพื่อให้มีการบูรณาการที่สอดคล้องกับแนวนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศไทย
ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเกษตรและสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจฐานราก
ยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารสู่อาหารอนาคต เกิดการสร้างงาน และการสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น
ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารแห่งอาเซียนควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
และในสถานการณ์ที่ทั้งภายในประเทศไทย และประเทศต่าง ๆ
ทั่วโลกประสบปัญหากับโรคระบาดCOVID-19 ส่งผลให้เกิดความต้องการอาหารทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น
กระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคและทิศทางของโลก
เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยต่อไป.-สำนักข่าวไทย