กทม. 1 พ.ค.- การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงขณะนี้ มีการคาดการณ์ว่ามีแรงงานประมาณ 7 ล้านคน ได้รับผลกระทบต่อการจ้างงาน และรายได้ที่น้อยอยู่แล้วมีแนวโน้มลดลงหรือไม่มีรายได้เลย ในขณะเดียวกันบางกลุ่มแม้เป็นแรงงานในระบบ แต่กลับไม่ได้รับการชดเชยหรือเยียวยาตามกฎหมาย
การถูกเลิกจ้างจากบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ทำมาเกือบ 4 ปี อย่างกะทันหัน เป็นสิ่งที่หญิงสาวคนนี้ไม่เคยคาดคิดมาก่อน สร้างความกังวลให้กับเธอเป็นอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่ตัวเธอเท่านั้นที่จะไม่มีเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่ยังมีลูกน้อยในครรภ์ที่รอลืมตาดูโลกในเดือนตุลาคมนี้
แม้ขณะนี้สามีของเธอยังพอมีรายได้รายวันอยู่บ้าง แต่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย ค่าห้องเช่า ค่าน้ำค่าไฟ ค่ากินอยู่ และค่าฝากครรภ์ก็ยังติดลบอีกหลายพัน
ไม่ต่างกับชะตากรรมของแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์กลุ่มนี้ที่ถูกเลิกจ้าง และไม่ได้รับการชดเชยตามกฎหมาย ในขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายยังคงรออยู่ หลายคนจึงยังหาทางออกให้กับตัวเองไม่ได้ เพราะรายได้ที่น้อยอยู่แล้วมากลายเป็นศูนย์
ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 มีแรงงานมาขอความช่วยเหลือจากศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วม 88,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในระบบที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม และไม่ได้รับการชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งได้รวบรวมความเดือดร้อนทั้งหมดนำเสนอ รมว.แรงงาน และดำเนินการช่วยเหลือทางกฎหมายเพื่อให้แรงงานได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเป็นธรรม
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยคาดการณ์ว่า จากสถานการณ์โควิด-19 มีแรงงานได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 7 ล้านคน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ถูกเลิกจ้างมากที่สุดถึงร้อยละ 70 เป็นผลจากการเข้ามาของเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมโดยรวมปรับเปลี่ยนไปสู่การจ้างแรงคนน้อยลงเรื่อยๆ . – สำนักข่าวไทย