พุทธมณฑล 21 เม.ย.-ผอ.พศ.นำบุคลากรปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหาร ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(ผอ.พศ.) พร้อมด้วยผู้บริหารและบุคลากรสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่วมกันหว่านเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัว ภายในแปลงสาธิต พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เพื่อเตรียมปลูกในพื้นที่สวนวิถีพุทธ วิถีเกษตร ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
นายณรงค์ กล่าวว่า จากการที่ตนเองได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ โรงทาน ที่จัดตั้งขึ้นในวัดต่างๆ ตามพระดำริของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พบว่าทุกๆ ศูนย์ฯ มีการดำเนินงานตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ล่าสุดได้ไปตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ตนเองได้รับรายงานและได้เข้าร่วมกิจกรรมของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่ คือ กิจกรรมภายใต้โครงการ พุทธเกษตร สู้วิกฤติ COVID-19 ปลูกผักสวนครัว ปลอดสารพิษ ภายใต้แผนปฏิบัติการ 90 วัน “ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ซึ่งเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทยทุกคน จึงได้นำแนวคิดนี้มาขยายผลทันที
เริ่มต้นจากการให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่วมกันปลูกพืชผักสวนครัว ในพื้นที่ แปลงสาธิต จำนวน 14 แปลง โดยให้แต่ละกอง/สำนัก/สำนักงาน ได้ปลูกพืชผักที่ไม่ซ้ำกัน เมื่อพืชผักเจริญเติบโตขึ้นพร้อมที่จะนำไปปรุงเป็นอาหารได้ ก็จะแบ่งปันกันนำไปประกอบอาหารได้อย่างหลากหลาย ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
นายณรงค์ กล่าวด้วยว่า ตนเห็นว่าสิ่งที่จำเป็นที่สุด คือการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน จึงได้ริเริ่มกิจกรรม วิถีพุทธ วิถีเกษตร ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร น้อมนำมาปฏิบัติและประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และเป็นตัวอย่างให้บุคลากรของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตลอดจนประชาชนชาวไทยสามารถนำไปปฏิบัติ ในการดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข
สำหรับผักสวนครัวที่ทำการปลูกนั้น อาทิ ผักกินผล (มะเขือ แตงกวา ฝักทอง บวบ มะระ) ผักกินใบกินต้น (คะน้า ผักบุ้ง กวางตุ้ง ผักกาด) ผักกินดอก (แค โสน อัญชัน กระเจี๊ยบแดง กระหล่ำดอก กุยช่าย ต้นหอม) ผักกินหัว (หอม กระเทียม ขมิ้น แครอท กระชาย) ผักกินฝัก (ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา ถั่วพู) ผักเครื่องเทศ (ตะไคร้ ข่า ขิง พริก ผักชี แมงลัก กระเพรา โหระพา สะระแหน่ ตั้งโอ๋) ผักพื้นบ้าน (ผักหวานบ้าน ชะอม ขจร บัวบก ) เป็นต้น .-สำนักข่าวไทย