กทม. 14 เม.ย. – คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สร้างหุ่นยนต์ “น้องปิ่นโต” และ “พี่กระจก” ส่งอาหารและยาระยะไกล ช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อระหว่างดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ตอนนี้มีโรงพยาบาลทั่วประเทศส่งความต้องการขอรับไปใช้งานแล้วเกือบ 100 ตัว
นี่คือหน้าตา “น้องปิ่นโต” ที่มาพร้อมกับ “พี่กระจก” หุ่นยนต์ส่งอาหารและยาระยะไกลพร้อมระบบ Telepresence ที่จะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงให้บุคลากรทางการแพทย์ระหว่างดูแลผู้ป่วยโควิด-19 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และกลุ่ม Startup ของศิษย์เก่าที่นี่ กำลังเร่งมือช่วยกันสร้าง หลังมีความต้องจากโรงพยาลต่างๆ หลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก
“น้องปิ่นโต” ประยุกต์มาจากรถเข็นส่งอาหารผู้ป่วยในโรงพยาบาล นำมาติดตั้งระบบควบคุมการเคลื่อนที่จากระยะไกล ใช้ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ ไปให้ผู้ป่วย โดยที่ไม่ต้องเข้าไปสัมผัสใกล้ชิด และใช้ระบบการสื่อสารระยะไกล Telepresence ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ สั่งการผ่านจอแท็บเล็ต หรือ “พี่กระจก” ซึ่งติดอยู่ด้านบนของรถเข็น ช่วยให้แพทย์และพยาบาลสามารถดูแลคนไข้ได้ตลอดเวลา ระบบนี้นอกจากช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อแล้ว ยังช่วยประหยัดอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ชุด PPE และหน้ากาก N95 อีกด้วย
หุ่นยนต์ตัวนี้ทดลองใช้งานจริงมาแล้วในโรงพยาบาลกว่า 10 แห่ง เพื่อพัฒนาให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานหลัก คือบุคลากรทางการแพทย์ จึงมีโครงสร้างขนาดเล็ก กลไกการทำงานไม่ซับซ้อน สามารถเคลื่อนที่รอบเตียงผู้ป่วยและทำความสะอาดฆ่าเชื้อได้ง่าย
หัวหน้าทีมงาน CURoboCovid บอกว่า นอกจาก “หุ่นยนต์ปิ่นโต” ที่โรงพยาบาลจากทั่วประเทศส่งความต้องการเข้ามาขอรับไปใช้งานเกือบ 100 ตัวแล้ว ยังมีความต้องการขอรับเฉพาะ “หุ่นยนต์กระจก” เข้ามาอีกกว่า 400 ชิ้น เพื่อใช้พูดคุยสื่อสารกับผู้ป่วยได้ทันทีโดยไม่ต้องกดรับสาย ในขณะที่ผู้ป่วยก็ใช้เรียกพยาบาลได้เมื่อต้องการความช่วยเหลือ ช่วยลดทั้งความเสี่ยงติดเชื้อและการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์
“น้องปิ่นโต” เป็นหุ่นยนต์ที่ผลิตได้ง่ายและเร็ว วัสดุส่วนใหญ่หาซื้อได้จากภายในประเทศ มีต้นทุนเพียงตัวละ 50,000 บาท ส่วน “พี่กระจก” ต้นทุนชิ้น 20,000 บาท ผู้ที่สนใจสบทบทุนบริจาคได้ที่กองทุนนวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถร่วมส่งกำลังใจไปให้บุคลากรทางกรแพทย์ต่อสู้กับวิกฤติโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย. – สำนักข่าวไทย