กรุงเทพฯ 14 เม.ย..-เผย สถิติความรุนแรงในครอบครัว ช่วงไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้น มีผู้โทรศัพท์เข้ามาสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 เดือนมี.ค. 63 มีทั้งสิ้น 154 รายเพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ. 63 ที่มีจำนวน 144 ราย แนะปรับทัศนคติ มอบของขวัญอันมีค่าให้แก่ครอบครัว
นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่าข้อมูลจากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พบสถิติความรุนแรงในครอบครัว ช่วงไวรัสโควิด19 เพิ่มมากขึ้น โดยมีผู้โทรศัพท์เข้ามาสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 เดือนมี.ค. 63 มีทั้งสิ้น 154 รายเพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ. 63 ที่มีจำนวน 144 ราย ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์จากข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ที่ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้รวบรวม พบกรณีข่าวสามี อายุ 53 ปีชวนเพื่อนมานั่งสังสรรค์ดื่มเหล้าบริเวณหน้าบ้านตั้งแต่เย็นจนดึก ภรรยา อายุ 39 ปีเป็นห่วงเพราะช่วงนี้เกิดโรคระบาด จึงเรียกสามีเข้าบ้าน แต่เกิดทะเลาะกันและลงมือทำร้ายกันจนสามีเสียชีวิต
หรือกรณีข่าวสามี อายุ 66 ปีอยู่กินกับภรรยา อายุ 62 ปี มาหลายสิบปี ทะเลาะเบาะแว้งกันมาโดยตลอด ล่าสุดทะเลาะกันประเด็นห้ามสามีออกจากบ้าน เพราะสามีไม่ยอมใส่หน้ากากอนามัย หลังมีปากเสียงกันสามีขู่จะยิงตัวตาย และได้หนีไปอยู่บ้านลูกชาย คาดว่าสามีมีภาวะความเครียด จึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย
หลายๆกรณีสะท้อนให้เห็นว่า หญิงและชายที่มีทัศนคติต่างกันนำมาสู่ปัญหาความรุนแรงในบ้านที่เป็นปัญหาเรื้อรังและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงโรคระบาดที่ทุกคนต้องอยู่ในบ้านร่วมกัน ผู้ชายหลายคนไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ในการเข้าสังคมเพื่อนที่ต้องดื่มสังสรรค์ เที่ยวกลางคืน หรือการเล่นการพนัน ส่งผลทำให้สถิติการติดเชื้อโรคระบาดของผู้ชายมีมากกว่าผู้หญิง เช่น กลุ่มจากสนามมวย บาร์ ผับ เป็นต้น
ซึ่งจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้หญิงอาชีพแม่บ้าน ติดโรคจากบุคคลในครอบครัว ความสัมพันธ์ดังกล่าวส่งผลกระทบกับผู้หญิงทั้งด้านร่างกายและด้านจิตใจเมื่อถูกใช้ความรุนแรงในบ้าน ผู้หญิงหลายคนไม่กล้าออกมาจากบ้านหรือเข้ามาขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทั้งโรงพยาบาล สถานีตำรวจในการดำเนินคดี เพราะความกังวลต่อความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส ปัญหาการเดินทาง รวมถึงหลายคนประสบปัญหาการตกงาน ไม่มีรายได้
หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แนะในวันครอบครัว เราสามารถมอบของขวัญอันมีค่าให้แก่ครอบครัวได้ เช่น ช่วยแบ่งเบาภาระงานในบ้าน โดยยึด “การเห็นอกเห็นใจกัน” ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการลดปัญหาความรุนแรงในบ้านได้ ทั้งภาระงานในบ้าน ซักผ้า ถูบ้าน ทำกับข้าว รวมถึงงานที่ต้องทำแบบ Work from home ของขวัญชิ้นนี้หากค่อยๆลองทำดู จะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าอย่างชัดเจน
หรือใช้โอกาสวันครอบครัวในการลดละเลิกอบายมุข นอกจากดีต่อสุขภาพ ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เพื่อสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้
การใช้ภาษาพูดและภาษากายที่แสดงออกถึงความรัก มีสติ การให้กำลังใจกันและกัน รู้จักขอโทษ ลดอารมณ์ฉุนเฉียว เป็นโอกาสทบทวนอดีตและปรับจูนให้เกิดความสมดุลในครอบครัว เพื่อก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้
“จะเห็นว่า เพียงแค่เราปรับใจ ลดกำแพงที่ขวางกั้นลง เรียนรู้กันและกันให้มากขึ้นอีก นั่นคือของขวัญอันล้ำค่าที่สามารถมอบให้ครอบครัวได้ท่ามกลางวิกฤตไวรัสโควิด-19 และให้เชื่อมั่นว่าเราก็ทำได้”นางสาวอังคณากล่าว.-สำนักข่าวไทย