กรุงเทพฯ 13 เม.ย. -เพื่อไทยขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ ทำงานหนัก เห็นสัญญาณดีควบคุมโควิด-19 แนะรัฐเตรียมแผนรองรับในการทยอยปลดล็อค ฟื้นเศรษฐกิจ เตือนเยียวยาให้ถูกคน คนเดือดร้อนต้องได้รับการช่วยเหลือ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณและขอแสดงความยินดีกับบุคลากรทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขพื้นฐานของประเทศ ขอบคุณความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ ที่ทำให้เห็นสัญญาณการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ดีขึ้น คนไทยมาไกลและเสียสละในหลาย ๆ เรื่อง เชื่อว่าจากนี้ไปพี่น้องประชาชนจะช่วยกันรักษาวินัยและให้ความร่วมมือในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้มีการแพร่ระบาดกลับมาอีก
โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากนี้ไปรัฐบาลต้องเตรียมมาตรการในการทยอยปลดล็อคเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทสามารถดำเนินการได้บนพื้นฐานของการปฎิบัติตามมาตรการขั้นสูงเข้มข้นของการควบคุมโรค เช่นการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย สวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างทางสังคม Social Distancing ที่ในขณะนี้ร้านสะดวกซื้อหรือสาขาย่อยของธนาคาร สถานที่ที่ประชาชนต้องไปติดต่อทำธุรกรรมหลายแห่งได้เริ่มนำมาใช้ ตอนล็อคดาวน์ถูกตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลไม่มีมาตรการรองรับที่ดีพอ จนปัญหาบานปลายกลายเป็นงานหนักของบุคลากรทางการแพทย์ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค การทยอยปลดล็อคสำคัญไม่แพ้กัน ต้องมีมาตรการรองรับควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน
นายอนุสรณ์ ยังกล่าวถึงมาตรการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่เดือดร้อนจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจไม่ทั่วถึงประชาชนทุกกลุ่ม ว่า แฮชแท็ก #ทําไมไม่ได้ 5 พัน ทะยานติดอันดับต้น ๆ ของทวิตเตอร์ เป็นหนึ่งในสิ่งบ่งชี้ว่าเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาล มีคนถูกทิ้งจาก www.เราไม่ทิ้งกัน.com จำนวนมาก รัฐบาลใช้งบประมาณมหาศาลลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและโครงสร้าง ICT จำนวนเงินมากกว่า 100,000 ล้านบาท แต่ยังสับสน ว่าระบบคัดกรองที่มีปัญหาใช้ เอไอ หรือ ใช้สิ่งใดคัดกรอง บางคนทั้งชีวิตไม่เคยเกี่ยวข้าว ระบบบอกว่าเป็นเกษตรกร ซึ่งมีความผิดปกติเกิดขึ้นจำนวนมาก
โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ผลพวงจากการ Lockdown ทุกอย่างกะทันหันโดยไม่มีมาตรการรองรับ สร้างความเดือดร้อนให้ผู้ใช้แรงงาน อาชีพรับจ้างทุกอาชีพ และอาชีพอิสระ มากกว่า 40 ล้านคน เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแทบทุกระดับต้องหยุดชะงักหมด ผู้คนไม่สามารถหารายได้ งบประมาณมีแล้ว ต้องเยียวยาให้ถูกคน คนลงทะเบียน 27 ล้านคน ใครได้ ใครไม่ได้ ติดเงื่อนไขใด ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ รัฐบาลต้องรับผิดชอบระบบการคัดกรองที่มีปัญหา ประชาชนที่เดือดร้อนไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยา ไม่ใช่เพียงจะเปิดให้ผู้ที่ลงทะเบียนไม่ผ่านสามารถอุทธรณ์ได้ แต่ต้องพัฒนาระบบให้มีความถูกต้องเปิดเผยได้ การใช้ BigData หรือ การเชื่อมโยงฐานข้อมูลของรัฐ หาผู้เดือดร้อนจากโควิด-19 ให้พบ แล้วเร่งเยียวยาให้ถูกต้อง ถูกคน.-สำนักข่าวไทย