กทม. 11 เม.ย.- สมาคมสภาผู้สูงอายุฯ–แพทย์ – สสส. ร่วมสนับสนุนวันสงกรานต์และวันผู้สูงอายุปีนี้ ขอให้ผู้สูงอายุเก็บตัวอยู่บ้าน งดกิจกรรม รดน้ำดำหัว ลูกหลานแสดงความรักกตัญญูด้วยการกราบไม่กอด อยู่ห่าง 1-2 เมตร เลี่ยงนำโควิด-19 ติดผู้สูงอายุ
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันผู้สูงอายุแห่งชาติ 13 เมษายน รวมถึงเทศกาลสงกรานต์ที่ปีนี้อยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะมีโรคประจำตัว มีอายุตั้งแต่ 70ปีขึ้นไป ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการรับเชื้อ ดังนั้นกิจกรรมที่จะแสดงความเคารพจำเป็นต้องมีแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม เน้นการป้องกันสุขภาพและคำนึงถึงระยะห่างทางสังคม แม้ว่าจะอยู่ในครอบครัวเดียวกัน เช่น ทุกคนควรสวมหน้ากากอนามัย แสดงความเคารพรักโดยการกราบไม่สวมกอด หอมและเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร หรือใช้เทคโนโลยีแอปพลิเคชันสื่อสาร แทนการไปพบที่บ้าน รวมถึงงดไปวัดทำบุญ รือจัดกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในชุมชน ตามประกาศของกระทรวงวัฒนธรรม เรื่องแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเทศกาลประเพณีสงกรานต์
ศ.เกียรติคุณ นพ.พงษ์ศิริ ปรารถนาดี รองประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย กรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กล่าวว่า มติการประชุมคณะ กรรมการผู้สูงอายุฯ เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ให้งดการจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติประจำปี 2563 ที่กรุงเทพฯ ตามข้อเสนอของกรมกิจการผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันการติดต่อและแพร่ระบาดโควิด-19 ไปยังผู้ร่วมงาน ขณะเดียว กันมีคำสั่งงดการหยุดราชการในวันสงกรานต์ เพื่อไม่ให้ประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัด รวมถึงเครือข่ายชมรมผู้สูงอายุทั่วประเทศ ซึ่งมีชมรมผู้สูงอายุ เกือบ 3 หมื่นชมรม ภายใต้การกำกับของสาขาสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยทุกจังหวัด งดการจัดกิจกรรมทั้งหมดแล้ว ดังนั้น ในชุมชนต่างๆ ขอความร่วมมือทุกพื้นที่ปฏิบัติตามคำแนะนำ โดยงดกิจกรรมรดน้ำขอพรผู้หลักผู้ใหญ่ แสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ผู้สูงอายุ ด้วยการกราบไหว้ขอพร สมาชิกในครอบครัวสวมหน้ากากอนามัย และไม่ใกล้ชิดผู้สูงอายุจนเกินไป เพื่อเป็นการป้องกันผู้สูงอายุจากการรับเชื้อโควิด-19
ผศ.พญ.สิรินทร ฉันทศิริกาญจน คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ในปีนี้ผู้สูงอายุควรงดกิจกรรมเกี่ยวกับสงกรานต์ไปก่อน ไม่สนับสนุนให้ผู้สูงอายุออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่ในสังคมเปิด ไม่สามารถทราบได้ว่า คนรอบตัวไปไหน ทำอะไรบ้าง หรือไปพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาดหรือไม่ ส่วนผู้สูงอายุที่จะมีคนไปมาหาสู่ที่บ้านก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน เพราะแม้แต่คนใกล้ชิดในครอบครัวก็นำเชื้อโควิด-19 มาแพร่ให้ผู้สูงอายุได้ ดังนั้น ในช่วงนี้ผู้สูงอายุควรเก็บตัว และเน้นสื่อสารออนไลน์รูปแบบต่างๆ ที่ช่วยให้พูดคุยแบบเห็นหน้า เพื่อลดการเดินทางไปมาหาสู่ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อหรือแพร่เชื้อได้ .-สำนักข่าวไทย