ทำเนียบฯ 10 เม.ย.-นายกฯ ห่วงประชาชนใช้น้ำช่วงหน้าแล้ง กำชับหน่วยงานราชการเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำใช้เพียงพออย่างต่อเนื่อง
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างต่อเนื่องจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งหน่วยงานภายใต้ กอนช.ได้เตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์น้ำหลากในฤดูฝน ปี 2563 แล้ว โดยกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้ตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ และสถานีโทรมาตร นอกจากนี้ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การรถไฟแห่งประเทศไทย และกรมชลประทาน เร่งตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำและจัดการทำแผนงานปรับปรุงซ่อมแซมสิ่งกีดขวางทางน้ำ และดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมให้แล้วเสร็จทันฤดูฝนนี้ โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ตรวจสอบปริมาณวัชพืชผักตบชวาด้วยดาวเทียม และกรมโยธาธิการและผังเมืองจัดทำแผนงานและมอบหน่วยงานดำเนินการในทางน้ำที่รับผิดชอบให้เสร็จทันฤดูฝน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง 24 จังหวัด การประปานครหลวงและกรมชลประทานได้แจกจ่ายน้ำอุปโภค-บริโภคให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง กรมทรัพยากรน้ำบาดาลขุดเจาะบ่อบาดาล รวมสะสม 1,252 บ่อ การประปาส่วนภูมิภาค ดำเนินการแจกจ่ายน้ำสะอาดแล้ว จำนวน 54.15 ล้านลิตร กรมทรัพยากรน้ำ สนับสนุนน้ำสะอาด 10.33 ล้านลิตร กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่รับน้ำ 7 อ่างเก็บน้ำในเขต จ.จันทบุรี จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี เพิ่มน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำภาคตะวันออก
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรี ยังห่วงใยความเพียงพอของปริมาณน้ำ โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี ซึ่งมีการใช้น้ำหลายภาคส่วน ทั้งอุปโภค-บริโภค เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ กำหนดมาตรการให้มีน้ำเพียงพอใช้อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับกรมชลประทาน และมอบหมายให้ทุกภาคส่วนช่วยกันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำระยะเร่งด่วน ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค และบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ East Water สนับสนุนน้ำเข้ามาเสริมในระบบกว่า 20 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกทั้งสถาบันน้ำและพลังงานเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ขอความร่วมมือจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ให้ภาคเอกชนร่วมกันลดการใช้น้ำลง 10% ตามแผนบริหารจัดการน้ำที่วางไว้ เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563
“นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเต็มที่ตามแผนที่วางไว้ให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อคลี่คลายปัญหา และขอความร่วมมือเกษตรกรให้เพาะปลูก หรืองดเว้นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ สำหรับประชาชนทั่วไปร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว.-สำนักข่าวไทย