นนทบุรี 6 เม.ย. – กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งส่งเสริมกลุ่มสินค้า GI ผ่าวิกฤติช่วงโควิดระบาด ย้ำสินค้า GI มีอัตลักษณ์สร้างมูลค่าเพิ่มให้ท้องถิ่นอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่าจากปัญหาแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนี้ ทำให้หลายภาคส่วนได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยกรมฯได้เร่งนำแนวทางด้านส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลมาสร้างความเข้มแข็งโดยผ่านการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI มาใช้เพื่อคุ้มครองชื่อสินค้าให้เป็นสิทธิเฉพาะของชุมชน การรักษามาตรฐานของสินค้าและภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างความเชื่อมั่นในแหล่งที่มาและคุณภาพของสินค้า รวมถึงช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าด้วยความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถผลิตได้เฉพาะท้องถิ่นให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI เพิ่มเติมอีก 2 รายการ ได้แก่ ผ้าหม้อห้อมแพร่ และกล้วยหอมทองปทุม ทำให้ขณะนี้ ประเทศไทยมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI แล้ว 120 รายการ จาก 76 จังหวัด แล้ว ซึ่งสินค้า GI ทั้ง 2 รายการดังกล่าว โดยมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ผ้าหม้อห้อมแพร่เป็นผ้าทอพื้นเมืองที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติหรือเส้นใยสังเคราะห์ที่ผ่านกระบวนการย้อมสีธรรมชาติ ทำให้เกิดลวดลายด้วยการมัดย้อม การจุ่ม หรือการพิมพ์ลายด้วยภูมิปัญญาการก่อหม้อห้อมที่ใช้ใบและต้นห้อมที่ปลูกในจังหวัดแพร่ ทำให้ผ้าทอและเสื้อผ้าที่ผ่านการย้อมมีเฉดสีฟ้าถึงสีน้ำเงินเข้ม มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ ซึ่งผลิตขึ้นในพื้นที่จังหวัดแพร่ ที่รู้จักกันเป็นอย่างดี
ส่วนสินค้า GI กล้วยหอมทองปทุมนั้น ถือเป็นกล้วยหอมทองที่มีผลใหญ่ยาว หน้าตัดค่อนข้างกลม ปลายคอดเล็กน้อย ผิวนวล เปลือกบาง ผลดิบสีเขียวนวล ผลสุกสีเหลืองทองนวล เนื้อเหนียวแน่นรสชาติหอมหวาน ปลูกในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งแนวทางการดำเนินงานในด้านการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าในสินค้าชุมชน ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เตรียมผลักดันให้สินค้า GI พัฒนาไปสู่ตลาดและผู้บริโภคตามช่องทางต่างๆที่เตรียมไว้แล้ว เพื่อเป็นช่องทางการตลาดให้กับสินค้า GI ที่มีความหลากหลาย ทั้งสินค้าเกษตรกรรม หัตถกรรม และอุตสาหกรรม (เกษตรแปรรูป) ซึ่งต้องใช้ความพยายาม ความมุ่งมั่น และการร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อนำสินค้าชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่หาที่อื่นไม่ได้ ไปสู่สินค้าที่มีคุณค่าและมูลค่าให้มากขึ้น
ทั้งนี้ กรมฯได้ ตั้งเป้าหมายในการส่งเสริมสินค้า GI ไปสู่กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าทางการตลาดมากกว่ากลุ่มสินค้าที่ขึ้นทะเบียนเพื่อการอนุรักษ์ และเพิ่มเติมการจัดทำระบบควบคุมสินค้า GI ให้เข้มข้น เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป และในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการสร้างมูลค่าของสินค้ากลุ่มนี้สามารถสร้างรายได้ทั้งในประเทศและส่งออกไปตลาดต่างประเทศแต่ละปีหลายพันล้านบาท ซึ่งในอีกไม่นานสินค้า GI จะสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นหมื่นล้านบาทได้อย่างแน่นอน เรื่องจากสินค้า GI ในหลายรายการเป็นที่ยอมรับทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง . – สำนักข่าวไทย