ทำเนียบรัฐบาล 5 เม.ย.- ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 พบผู้ป่วยใหม่ 102 ราย ผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 2,169 ราย เสียชีวิตรวม 23 ราย พบ 1 ราย อายุเพียง 30 ปี ถือว่าน้อยสุด แต่มีประวัติดื่มสุราเป็นประจำ ขณะยังมีคนฝ่าฝืนเคอร์ฟิวถึง 622 คน ดำเนินคดีแล้ว 325 คน
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีติดตามเรื่องการติดตามตัว 158 คนไทย โดยสั่งการทุกหน่วยงานให้ทำงานอย่างบูรณาการ ซึ่งติดตามตัวมาได้ครบทุกคนแล้ว ทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณทั้ง 158 คนไทยที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีและทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกัน ทั้งนี้ ตัวเลขล่าสุดที่เข้ามารายงานตัว จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกในต่างจังหวัด 65 คน 27 จังหวัด แบ่งสถานที่กักตัวเป็น 3 ส่วน ได้แก่ โรงพยาบาล โรงแรมหรือรีสอร์ท และสถานที่ราชการ ส่วนใน กทม.และปริมณฑล รายงานตัว 93 คน เข้าพักที่โรงแรมใน กทม. 2 แห่ง ยืนยัน กระทรวงสาธารณสุขจะเข้าไปดูแลอย่างดี มั่นใจได้ว่า หากติดเชื้อก็จะดูแลอย่างดี ไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อ โดยมีผู้ตรวจราชการของกระทรวงสาธารณสุขนำทีมเข้าไปคัดกรองและที่พบก่อนหน้านี้ว่า 3 รายมีอาการป่วยนั้น มี 1 รายที่รายงานตัวแล้ว อีก 2 รายยังสอบสวนหาตัวอยู่ พร้อมขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้กับสถานที่กักตัวของรัฐ
นายแพทย์ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึงการประกาศเคอร์ฟิวเวลา 22.00-04.00 น.ว่า ในคืนวันที่ 3-4 เมษายน ได้ตั้งจุดตรวจจำนวน 634 จุด มีรถผ่าน 7,997 กว่าคัน มี 10,000 กว่าคนที่ผ่านจุดตรวจ และพบการกระทำผิดไม่มีเหตุผลในการเดินทาง เป็นรถยนต์ 522 คัน 677 คน นอกจากนี้ยังพบการรวมกลุ่มมั่วสุม เช่น การดื่มสุรา การเสพยาเสพติด คิดเป็น ยานพาหนะ 24 คัน จำนวน 41 คน โดยทั้งหมด มีการตักเตือน 375 คน ดำเนินคดี 325 คน
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่าเมื่อวานนี้ (4 เม.ย.) มีคนไทยเดินทางเข้ามา 2 เที่ยวบิน จากมาเลเซีย 51 คน กาตาร์ 47 คน ซึ่งนำไปกักตัวในโรงแรม 2 แห่ง โดยการดำเนินการของเจ้าหน้าที่มีความรวดเร็วขึ้น ใช้เวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง และบูรณาการของภาครัฐได้ดีขึ้น นายกรัฐมนตรีชื่นชมการทำงานของทุกคน
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในฐานะโฆษกศูนย์ ศบค. กราบขออภัยคนไทยที่ติดค้างอยู่ต่างประเทศ ที่ทราบคือผู้ที่กำลังต่อเครื่อง ที่ต้องรอคอยอยู่ในสนามบินต่างประเทศ โดยได้รับรายงานว่ามีคนไทยต้องติดอยู่สถานที่ต่างๆ ทำให้เกิดความไม่สะดวกบ้าง สถานทูตก็ได้เข้าไปดูแลพี่น้องประชาชน ซึ่งที่ต้องยืดเวลาเพราะเจ้าหน้าที่จะได้เตรียมการในการดูแลเมื่อเดินทางมาถึงอย่างดีที่สุด โดยตอนนี้ ทราบว่า จำนวนคนไทยที่จะเดินทางเข้ามาไม่มากแล้ว ตัวเลขอยู่ที่ประมาณหลัก 200-300 คนต่อวัน แต่ย้ำว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับทุกคน ทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างดี ขอให้อดทนสักนิด ทั้งนี้ ยืนยันว่า ต่างชาติยังชื่นชม สถานที่กักตัวโดยรัฐและอาหารการกินที่ดีกว่าหลายประเทศ
นายแพทย์ทวีศิลป์ ยังรายงานสถานการณ์วันนี้ (5 เม.ย.)ว่า ไทยมีรายงานผู้ป่วยใหม่ 102 ราย พบใน 66 จังหวัด รวมผู้ป่วย 2,169 ราย หายป่วยแล้ว 674 ราย ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้น ขณะที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รวม 23 คน โดยผู้เสียชีวิตรายแรก เป็นชายไทย 46 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางกลับจากกรุงลอนดอนถึงไทย ในวันที่ 22 มีนาคม เข้ารับการรักษาครั้งแรกในวันที่ 25 มีนาคม ด้วยอาการไข้ 38.9 องศา มีอาการไอ เจ็บคอ น้ำมูก ปวดกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก ก่อนจะเสียชีวิตในวันที่ 3 เมษายน ส่วนผู้เสียชีวิตรายที่ 2 เป็นชายชาวสวิตเซอร์แลนด์ อายุ 82 ปี เป็นโรคหัวใจ มีประวัติเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ได้ร่วมงานเลี้ยงในหมู่บ้านที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และร่วมงานเลี้ยงในบาร์ ร้านอาหารย่านสุขุมวิท กทม. โดยมีอาการไข้ 39.2 องศา มีความดันโลหิตสูง หายใจเหนื่อยหอบ เบื้องต้นแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดบวม ภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ก่อนจะย้ายมารักษาโรงพยาบาลที่เพชรบุรีก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา ด้านผู้เสียชีวิตรายที่สาม เป็นชายไทยอายุ 30 ปี มีอาชีพก่อสร้าง มักดื่มสุราเป็นประจำ เดินทางจากจังหวัดพัทลุงและสุรินทร์ มีอาการป่วย ไอ ไม่มีไข้ เสมหะเขียว อาเจียนเป็นเลือด น้ำหนักลด เหนื่อยหอบ ออกซิเจนในเลือดต่ำ ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม ได้นำกรณีผู้เสียชีวิต 20 รายก่อนหน้านี้มาเรียนรู้เพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยพบผู้ป่วยชายเสียชีวิตมากกว่าเพศหญิง โรคประจำตัวที่พบส่วนใหญ่คือ เบาหวาน 50% ความดันโลหิตสูง 35% โรคไตเรื้อรัง 15% ไขมันในเลือดผิดปกติ 15% และโรคอื่นๆได้แก่ โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง วัณโรคและมะเร็ง ปัจจัยเสี่ยงการเสียชีวิตของกลุ่มคนอายุ 50-69 ปี คือ กลุ่มที่ไปต่างประเทศและพิธีทางศาสนา ส่วนปัจจัยเสี่ยงการเสียชีวิตของกลุ่มคนอายุ 70 ปีขึ้นไป คือ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสนามมวย และกลุ่มอายุ 80-89 ปี เป็นกลุ่มที่มีอัตราการป่วยตายมากที่สุด
ขณะที่ในจำนวนผู้ป่วยเพิ่ม 102 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 48 คน เป็นสถานบันเทิง 2 คน พิธีกรรมทางศาสนา 2 คน และสัมผัสผู้ป่วยยืนยันใกล้ชิด 44 คน
กลุ่มที่ 2 คือ ผู้ป่วยอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 42 คน อาทิ คนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 13 คน ส่วนใหญ่มาจากอังกฤษ 7 คน เป็นอาชีพเสี่ยงที่ทำงานในสถานที่แออัดหรือใกล้ชิดสัมผัสชาวต่างชาติ 19 คน บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข 2 คน และกลุ่มที่ 3 อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 12 คน
สำหรับผู้ป่วยใหม่ทั้ง 102 คน เป็นคนในพื้นที่กรุงเทพมหานครสูงสุด 34 คน รองลงมา ภูเก็ต 24 คน ซึ่งเป็นอาชีพเสี่ยง 10 คน และเป็นผู้สัมผัสผู้ป่วย 8 คน สมุทรปราการ 9 คน ชลบุรี 8 คน นนทบุรี 7 คน เชียงใหม่ 3 คน ฉะเชิงเทรา นราธิวาส พัทลุง ลำปาง 2 คน และ นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา ยะลา สกลนคร สระแก้ว สุรินทร์ จังหวัดละ 1 คน
สำหรับผู้ป่วยสะสมทั้ง 2,169 คน ใน 66 จังหวัด 10 อันดับสูงสุดของจังหวัดที่พบผู้ป่วยคือ กรุงเทพหานคร 1,011 คน นนทบุรี 137 คน ภูเก็ต 131 คน สมุทรปราการ 108 คน ชลบุรี 68 คน ยะลา 52 คน ปัตตานี 45 คน สงขลา 37 คน เชียงใหม่ 36 คน ปทุมธานี 28 คน และอยู่ระหว่างสอบสวน 179 คน
นายแพทย์ทวีศิลป์ ยังชี้ให้เห็นผู้ป่วยชาวไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่กลับจากยุโรปจำนวน 85 ราย มาเลเซีย 49 ราย อินโดนิเซีย 44 ราย กัมพูชา 26 ราย ปากีสถาน 14 ราย ญี่ปุ่น 10 ราย สหรัฐอเมริกา 9 ราย และอื่นๆ 12 ราย จึงขอบคุณทั้ง 158 คนไทยที่กลับเข้ามากักตัวกับทางรัฐ ทั้งนี้ ยังแนะว่า ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ แม้จะมีใบรับรองแพทย์และกักตัวที่ประเทศต้นทางมาแล้ว 14 วัน แต่ก็ต้องปรับตัวที่ประเทศไทยอีก 14 วัน เพื่อความมั่นใจและไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อให้กับบุคคลอื่น ขณะเดียวกัน ยังวิเคราะห์ว่า การติดเชื้อภายในประเทศในระยะเวลา 7 วันล่าสุด ในส่วนของ กทม.มีแนวโน้มลดลง ส่วนต่างจังหวัดค่อนข้างคงที่ ขณะที่การติดเชื้อจากต่างประเทศใน 7 วันล่าสุดนั้น ต่างชาติไม่เกิน 10 รายต่อวัน ส่วนใหญ่มาจากยุโรป คนไทย 25 รายต่อวันจากยุโรป ปากีสถาน และอินโดนีเซีย (ดาวะห์)
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกในขณะนี้ สหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 310,233 ราย เสียชีวิต 8,445 ราย รองลงมาคือสเปน มีผู้ติดเชื้อ 126,168 ราย เสียชีวิต 11,947 ราย และอิตาลี มีผู้ติดเชื้อ 124,632 ราย เสียชีวิต 15,362 ราย โดยไทยอยู่ในอันดับที่ 38 อย่างไรก็ตามชื่นชม 11 จังหวัดที่ยังไม่มีอะไรการรับรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พังงา พิจิตร ระนอง สตูล สิงห์บุรี อ่างทอง.-สำนักข่าวไทย