กรุงเทพฯ (4 เม.ย.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน จี้ กสทช.ปรับแผนเน็ตฟรี 10 GB ให้ใช้ได้มากกว่า 30 วัน จนกว่าเน็ตจะหมด พร้อมจัดแจ้งผู้ใช้เน็ตบ้านให้สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับการใช้งาน โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาสามารถกำหนดตามต้องการ ที่ต้องเรียนออนไลน์ หากงบฯไม่พอขอรัฐบาล
ฝ่ายประชาสัมพันธ์สำนักงาน ผู้ตรวจการแผ่นดิน ออกเอกสารข่าวเผยแพร่ว่า เมื่อวานนี้ (3 เม.ย.) พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการฯ ได้เชิญนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาหารือมาตรการแจกเน็ตฟรี 10 GB 30 วัน สนับสนุนให้ประชาชนอยู่บ้าน ลดกิจกรรมทางสังคม และเรียน – ทำงานที่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งในวันที่ 10 เมษายน จะเปิดลงทะเบียนให้ปริมาณโมบายอินเทอร์เน็ตฟรี 10 GB และอัพสปีดอินเทอร์เน็ตบ้านให้
มาตรการแจกโมบายอินเทอร์เน็ตฟรีนั้น จะให้เฉพาะผู้ที่ใช้โปรโมชั่นอินเทอร์เน็ตไม่เกิน 10 GB โดยจะสมทบเพิ่มให้อีก 10 GB ใช้งานได้ 30 วันหลังจากลงทะเบียนรับสิทธิ์ ส่วนอินเทอร์เน็ตบ้านจะปรับสปีดให้เป็น 100 Mbps โดยอัตโนมัติ
ทั้งนี้ จากการหารือทางผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีข้อเสนอให้ กสทช. ดำเนินการขยายระยะเวลาใช้อินเทอร์เน็ตออกไปมากกว่า 30 วัน เป็นสามารถใช้ได้จนกว่าอินเทอร์เน็ต 10 GB ที่ได้รับสิทธิ์เพิ่มมาหมดไป โดยให้ กสทช.ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ช่วยเหลือประชาชนและบ้านเมืองในภาวะวิกฤต
ส่วนการอัพสปีดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ หรืออินเทอร์เน็ตบ้านให้ 100 Mbps โดยอัตโนมัตินั้น ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการไม่เต็มแพ็คเกจ 100 Mbps ประมาณ 1 ล้านครัวเรือนเท่านั้น แบ่งเป็นประเภท adsl (สายทองแดง) ที่มีประสิทธิสูงสุด 30 Mbps และประเภทไฟเบอร์ออพติคที่มีประสิทธิภาพสูงสุด 100 Mbps ซึ่งแต่ละบ้านจะได้อัพสปีดเต็มประสิทธิภาพสูงสุดของแต่ละอุปกรณ์โดยอัตโนมัติ ผู้ตรวจฯ เสนอให้ กสทช. ดำเนินการแจ้งให้ผู้ประกอบการมี sms แจ้งสิทธิ์ให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการได้ทราบ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถแจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิ์ให้ตรงตามความต้องการ และสามารถปรับเปลี่ยนให้ตรงความประสงค์ของผู้ใช้บริการ
ส่วนกรณีการขอสนับสนุนโครงการอินเทอร์เน็ตนักศึกษามายัง กสทช. เนื่องจากปิดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยนั้น ผู้ตรวจฯ เสนอให้ กสทช.ขอทราบความต้องการในการใช้อินเทอร์เน็ตของแต่ละสถาบันการศึกษา เพื่อการเรียนการสอนทางออนไลน์ คาดว่าน่าจะใช้งบประมาณราว 200 – 300 ล้านบาท หากงบประมาณไม่เพียงพอ ก็อาจขอการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มเติม โดยผู้ตรวจฯหวังว่า ข้อเสนอจะนำเข้าหารือในที่ประชุมบอร์ดกรรมการบริหาร กสทช. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป .- สำนักข่าวไทย