กทม.24 มี.ค.-กทม.วางแนวทางร่วมกลุ่มธุรกิจเดลิเวอรี่ ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 “พนักงานขนส่งใส่หน้ากากอนามัย-หมั่นตรวจวัดไข้-เป็นไปได้รับชำระเงินระบบ e-payment หมั่นทำความสะอาดกล่องใส่อาหารที่ติดตั้งท้ายรถจักรยานยนต์”
พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการของผู้ประกอบธุรกิจจัดส่งอาหาร (delivery)ในสภาวการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยมีคณะผู้บริหาร กทม.ร่วมด้วยหลายหน่วยที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข บริษัท สกู้ตตาร์ ปิยอนด์ จำกัด (SKOOTAR) บริษัท แฮปปี้เฟรช (ประเทศไทย) จำกัด (HAPPY FRESH) บริษัท แกร็บ (ประเทศไทย) จำกัด (GRAB FOOD) บริษัท เวล็อคช์ ดิจิตอล จำกัด (แอพพลิเคชั่น GET) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด (LineMan) บริษัท ลาลามูฟอีซี่แวน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท FOOD PANDA จำกัด บริษัท เอสแอนด์พี ซินดิเคท จำกัด บริษัท แมคไทย จำกัด (แมคโดนัล) บริษัท พิชซ่าฮัท ประเทศไทย จำกัด
รองผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีการแพร่ระบาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กทม.จึงได้ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวไปแล้ว 3 ฉบับ โดยสั่งปิดสถานที่รวม 26 ประเภท เพื่อควบคุมสถานการณ์ ซึ่งมีผลเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจจัดส่งอาหาร (delivery) ใน 4 ข้อแรก ประกอบด้วย
1.ปิดร้านอาหาร รวมถึงร้านอาหารที่อยู่ในคูหา รถเข็นและแผงลอยจำหน่ายอาหาร ให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น ส่วนร้านอาหารในโรงแรมให้บริการเฉพาะผู้ที่พักอาศัยในโรงแรม หรือจำหน่ายอาหารเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น ยกเว้นร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในบริเวณสนามบิน
2.ปิดห้างสรรพสินค้า รวมถึงศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ยกเว้น ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา หรือสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ส่วนร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือคอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดจำหน่ายอาหารเฉพาะเพื่อการนำกลับไปบริโภคที่อื่น ทั้งนี้การปิดห้างสรรพสินค้า รวมถึงศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ไม่รวมถึงพื้นที่ตั้งของธนาคาร
3. ปิดบริการพื้นที่นั่งหรือยืนรับประทานอาหารในร้านสะดวกซื้อ
4. ปิดตลาดและตลาดนัด เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จ เพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น อาหารสัตว์ ร้านขายยา และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบไปแล้ว
จึงได้เชิญผู้ประกอบธุรกิจจัดส่งอาหารร่วมหารือแนวทางการปฏิบัติด้านสุขอนามัยสำหรับให้บริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่(Delivery) ในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งในส่วนผู้ประกอบการที่จัดบริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ ร้านอาหารที่ให้บริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ และพนักงานขนส่งอาหารเดลิเวอรี่ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ตลอดจนแนวทางการลดค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งผู้แทนผู้ประกอบธุรกิจได้รับไปเสนอต่อผู้บริหาร ซึ่ง กทม.พร้อมสนับสนุนการสอนทำหน้ากากอนามัยแบบผ้าให้ แก่ผู้ประกอบการในกรณีที่พนักงานขนส่งไม่สามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยแบบ Surgical Mask ไม่ได้
นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า ในสถานการณ์ปกติประชาชนนิยมสั่งอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่เป็นจำนวนมากอยู่แล้วสำหรับในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นนี้ ประชาชนจะสั่งอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่มากยิ่งขึ้น จึงรู้สึกมีความห่วงใยเนื่องจากพนักงานขนส่งของแต่ละบริษัทมีจำนวนมากและรูปแบบการป้องกันความเสี่ยงของแต่ละบริษัทก็ต่างกัน หากมีการปนเปื้อนเชื้อจะทำให้การแพร่ระบาดรุนแรงยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ หากทุกบริษัทมีข้อตกลงร่วมมือกันป้องกันความเสี่ยงเป็นไปในทิศทางเดียวกันจะสามารถสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนและภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลดีให้แก่ภาพลักษณ์ผู้ประกอบการด้วย อาทิ พนักงานขนส่งทุกคนควรใส่หน้ากากอนามัย หากหาแบบ Surgical ไม่ได้ ให้ใช้หน้ากากอนามัยผ้าทดแทน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ผู้ประกอบการควรหมั่นตรวจวัดไข้พนักงานขนส่งโดยควรตรวจวัดไข้ทุกวันก่อนออกให้บริการ
สำหรับบางบริษัทที่พนักงานขนส่งไม่ได้เข้ามาที่บริษัท ให้บริษัทหาจุด check in สำหรับการตรวจวัดไข้ หากเป็นไปได้ควรรับชำระเงินให้ใช้ระบบ e-payment เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการสัมผัสธนบัตรและเหรียญ ในด้านเทคโนโลยีระบบติดตามตัว(tracking) ก็นับว่ามีความสำคัญ หากมีการติดเชื้อจะสามารถติดตามได้ว่าพนักงานขนส่งเดินทางไปพบหรือสัมผัสใครบ้าง
ส่วนกล่องสำหรับใส่อาหารที่ติดตั้งท้ายรถจักรยานยนต์ควรหมั่นทำความสะอาดทุกครั้งที่มีการส่งสินค้า เพื่อกำจัดเชื้อโรคอันเป็นการลดการแพร่ระบาดของโรคด้วย ซึ่ง กทม.อยากให้กลุ่มผู้ประกอบการได้หารือร่วมกันและดำเนินการให้ครบถ้วน รวมทั้งต่อยอดการดำเนินการป้องกันการระบาดของโรค ในอนาคตหากทุกคนละเลยจนเกิดการระบาดของโรคจนถึงระดับที่ต้องประกาศปิดเมือง หรือ Lock Down ทุกบริษัทย่อมได้รับผลกระทบหรืออาจต้องปิดกิจการ .-สำนักข่าวไทย