กทม./ภูมิภาค 24 มี.ค. – ผู้ว่าฯ ยะลา แถลงพบผู้ป่วยติดเชื้อ “โควิด-19” วันเดียว 17 คน ทั้งหมดเดินทางไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย ส่วน จ.สระแก้ว พบผู้ป่วย “โควิด-19” 2 รายแรกของจังหวัด ด้าน จ.บุรีรัมย์ ยืนยันพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 4 คน รวมสะสม 5 คน
กระทรวงสาธารณสุขแถลงพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มเติมอีก 122 คน ทำให้ยอดรวมสะสมอยู่ที่ 721 คน พร้อมแนะหากคนไทยเพิกเฉยไม่ร่วมควบคุมโรค หรือไม่มีระยะห่างระหว่างกัน อาจทำให้ตัวเลขผู้ป่วยสูงเท่ากับอิตาลี ขณะที่จังหวัดยะลา พบผู้ป่วยโควิด-19 วันเดียว 17 คน
กระทรวงสาธารณสุขแถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่าพบผู้ป่วยเพิ่มเติมจากเดิม 122 คน ทำให้ยอดรวมสะสมอยู่ที่ 721 คน ภาพรวมรักษาหายกลับบ้านได้แล้ว 52 คน เหลือรักษาตัวในโรงพยาบาล 668 คน โดยในจำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 7 คน สำหรับผู้ป่วยขณะนี้เป็นกลุ่มวัยทำงาน และเป็นชายมากกว่าหญิง อายุระหว่าง 30-39 ปี รองลงมาคือ 20-29 ปี พร้อมแสดงความเห็นห่วงประชาชนที่แห่เดินทางกลับต่างจังหวัด ให้ช่วยเฝ้าระวังโรคเป็นระยะเวลา 14 วัน เพื่อความปลอดภัย และป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนใกล้ชิด
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ที่พบเป็นกลุ่มผู้ป่วยเดิมที่มีการติดตามไว้ในกลุ่มสนามมวย 4 คน เป็นทั้งพี่เลี้ยง นักมวย และกลุ่มผู้ชม อยู่ในพื้นที่นนทบุรี นครปฐม และอุบลราชธานี กลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดกับกลุ่มสนามมวยที่ป่วยไปก่อนหน้านี้ 16 คน
นอกจากนี้กลุ่มผู้ป่วยรายใหม่ยังมีกลุ่มที่กลับมาจากต่างประเทศ รวมถึงกลุ่มที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้คนและชาวต่างชาติ อาทิ คนส่งของ นักเรียน พนักงานนวด คนขับรถ ดีเจ และชาวต่างชาติรวมอยู่ด้วย ทั้งเยอรมนี และฝรั่งเศส อีก 10 คน ส่วนอีก 92 คน เป็นกลุ่มที่ตรวจพบเชื้อระหว่างที่สอบสวนโรค เพราะใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อก่อนหน้านี้
ด้านนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เนื่องจากเปลี่ยนวิธีการตรวจยืนยันในห้องปฏิบัติการใหม่ จากต้องรอยืนยัน 2 แล็บ เป็นเหลือแล็บเดียว เพื่อความรวดเร็ว โดยสถานการณ์ในวันนี้อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าการแจ้งเตือนให้มีระยะห่าง 1-2 เมตร เพื่อไม่ให้ต้องเผชิญสถานการณ์เหมือนอิตาลีและอิหร่าน หากมีระยะห่างที่เหมาะสม ไม่เคลื่อนย้ายไปแพร่โรคสู่ผู้อื่น สถานการณ์ของไทยจะเหมือนกับญี่ปุ่นและสิงคโปร์ พร้อมแสดงความเห็นห่วงกรณีประชาชนกลับภูมิลำเนาต่างจังหวัด เพราะผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการอาจเสี่ยงเป็นผู้แพร่เชื้อ
ขณะที่ตัวเลขของไทย หลังจากนี้จะเหมือนกับประเทศอื่นที่ยอดจะเพิ่มขึ้นหลัก 100 คนต่อวัน และหลังจากนี้จะยังเพิ่มสูงขึ้นไปอีกระยะ แต่หากไม่ช่วยกันป้องกันอาจมีผู้ป่วยมากถึง 10,000 คน ภายใน 1-2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม กระทรวงมีการสำรองเตียง 10,000 เตียง ไว้รองรับผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง และผู้ป่วยหนัก 2,000-3,000 คน ซึ่งการดูแลผู้ป่วยนั้น กระทรวงสาธารณสุขพยายามสื่อสารส่งสัญญาณ เตือนและห้ามการเดินทาง รวมถึงลดการสัมผัสใกล้ชิดเพื่อไม่ให้โรครุนแรง หรือพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น หากมีจำนวนมาก การบริการสาธารณสุขอาจดูแลไม่ทั่วถึงเหมือนอิตาลี และสหรัฐอเมริกา พร้อมกันนี้ยืนยันว่าโรคโควิด-19 พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงในอายุ 70-80 ปี และยืนยันว่าการติดเชื้อในอิตาลี ไม่ได้รุนแรงกว่าเชื้อในประเทศอื่นๆ
สำหรับภาพรวมสถานการณ์โควิด-19 ของไทย หากดูจากกราฟตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา พบว่าช่วงแรกๆ จนถึงประมาณกลางเดือน พบว่าสถานการณ์ทรงตัว มีผู้ป่วยสะสมยังไม่ถึง 100 คน แต่หลังจากวันที่ 14 มีนาคมเป็นต้นมา ปรากฏว่าพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โฟกัสเฉพาะวันที่ 14-17 มีนาคม มีผู้ป่วยเฉลี่ยรายวันประมาณ 30-35 คน ส่วนยอดรวมพุ่งไปที่ 212 คน จากนั้นวันที่ 18 มีนาคม มียอดป่วยเพิ่ม 60 คน และยอดพุ่งอย่างรวดเร็วในวันที่ 21 มีนาคม ที่วันเดียวพบผู้ป่วย 188 คน และยอดรวมทะลุ 599 คน จนกระทั่งปัจจุบันมียอดรวมผู้ป่วย 721 คน
ส่วนกรณีคนไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ สำหรับผู้ที่มาจากเขตโรคติดต่ออันตราย 4 ประเทศ 2 เขตปกครองพิเศษ ต้องกักตัวอยู่ในที่พำนัก 14 วันทุกคน และห้ามออกจากสถานที่เด็ดขาด ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง 29 ประเทศ ตามที่องค์การอนามัยโลกรายงาน จะต้องถูกสังเกตอาการในที่พัก 14 วัน อย่างไรก็ตาม การเดินทางกลับเข้าไทยหลังจากนี้จะต้องมีเอกสารรับรองแพทย์ รวมถึงต้องมีหนังสือรับรองการเดินทางจากสถานทูต
ล่าสุดเมื่อช่วงค่ำวานนี้ (23 มี.ค.) นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อ 17 คน แบ่งเป็นจากอำเภอบันนังสตา 9 คน, เมืองยะลา 4 คน, รามัน 3 คน และธารโต 1 คน โดยมีผู้ต้องคัดกรองเพราะสงสัยติดเชื้ออีก 25 คน และมีผู้สัมผัสใกล้ชิดกับกลุ่มผู้ติดเชื้อ 239 คน โดยทั้งหมดได้เดินทางไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่มัสยิดศรีเปตาลิง กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ขณะนี้ได้มีการคัดกรองผู้ใกล้ชิดคนอื่นๆ อย่างเข้มข้น
ส่วนที่บุรีรัมย์ นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ยืนยันพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมอีก 4 คน รวมสะสม 5 คน โดยเป็นชายชาวต่างชาติ วัย 69 ปี 1 คน ส่วนอีก 4 คน เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 33-34 ปี ซึ่งที่บุรีรัมย์มีมาตรการปิดห้างสรรพสินค้า ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง รวมถึงกรุงเทพฯ ให้กักตัวอยู่บ้านเป็นเวลา 14 วัน หากฝ่าฝืนจะดำเนินคดีตามกฎหมาย
ที่สระแก้ว มีการแถลงยืนยันว่าพบผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 2 รายแรกของจังหวัด เป็นเพศชาย อายุ 29 ปี ชาวสมุทรปราการ และเพศหญิง อายุ 27 ปี ชาวสระแก้ว จากการสอบสวนโรคพบว่ารายแรกเป็นนักท่องเที่ยวที่ไปสถานบันเทิงในฝั่งปอยเปต ส่วนรายที่ 2 ไม่แสดงอาการ แต่มีประวัติเสี่ยงสูงที่จะสัมผัสผู้ป่วย จึงเข้ารับการตรวจและพบว่ามีเชื้อ ส่วนการติดตามสอบสวนโรคผู้ใกล้ชิด 6 คน ไม่พบเชื้อ แต่ต้องกักตัว 14 วัน ส่วนผู้ใกล้ชิดเสี่ยงสูง 6 คน กำลังรอผล
ที่เชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ แถลงยืนยันพบผู้ป่วยเพิ่มเติมอีก 1 คน ซึ่งเป็นกลุ่มครอบครัวของผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ทำให้ยอดรวมสะสมทะลุ 13 คน ในจำนวนนี้รักษาหายแล้ว 1 คน ส่วนใหญ่อาการทรงตัว และมีผู้เข้าข่ายเฝ้าระวังเหลือ 105 คน
เช่นเดียกับที่เพชรบุรี ล่าสุดนายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัด ยืนยันว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 1 คน เป็นชายไทยวัย 23 ปี ทำงานที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่งในอำเภอชะอำ ซึ่งมีภรรยาเป็นชาวลาว ทำงานในกาสิโนในกัมพูชา จากการสอบสวนโรคพบว่าภรรยาของชายไทยรายนี้ป่วยโควิด-19 และรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในอำเภอหัวหิน ขณะที่ชายคนดังกล่าวมีอาการป่วย จึงไปตรวจหาเชื้อ แต่ปกปิดข้อมูลเรื่องที่ภรรยาทำงานในกาสิโนที่กัมพูชา
ที่สงขลา แม้มีการปิดชายแดนไทย-มาเลเซีย ห้ามบุคคลทุกสัญชาติเข้า-ออก แต่ล่าสุดนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัด แถลงยืนยันว่ามีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มเติม 1 คน รวมสะสม 6 คน โดยทั้งหมดเป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาในมาเลเซีย ขณะที่มีผู้เข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง 210 ราย แต่ตรวจไม่พบเชื้อ 190 ราย แต่ยังรอผลตรวจยืนยันรอบที่ 2 จากส่วนกลาง 12 ราย.-สำนักข่าวไทย