สภากาชาดไทย 12 มี.ค.-วิกฤตโควิด-19 ส่งผลบริจาคน้อย โลหิตสำรอง ไม่เพียงพอ กาชาดวอนคนไทยช่วยกัน ยืนยันมีมาตรการชัดเจน
น.ส.ภาวิณี คุปตวินทุ รองผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มส่งผลกระทบกับการบริจาคโลหิต ภายในศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติและหน่วยเคลื่อนที่รับบริจาคโลหิต จากเป้าหมายที่ต้องได้รับโลหิตวันละ 2,000-2,500 ยูนิต แต่ทุกวันนี้ได้รับโลหิตลดลงเฉลี่ยวันละ 1,400 ยูนิต ต่อเนื่อง 3 วัน และช่วงไหนที่ข่าวการระบาดหนักๆบางวันเหลือบริจาคเพียง 500 ยูนิตต่อวัน
รวมทั้งช่วงนี้หลายหน่วยงานที่นัดหมายล่วงหน้าในการจัดกิจกรรมบริจาคโลหิตแจ้งยกเลิกจำนวนมาก เนื่องจากมีการเฝ้าระวังการเข้าพื้นที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้จำนวนการบริจาคโลหิตลดลงต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้ไม่ถึงวันละ1,000 ยูนิต อยู่ในภาวะโลหิตสำรองไม่เพียงพอจ่ายให้ กับโรงพยาบาลทั่วประเทศแล้ว หากคิดเป็นตัวเลขจากเดิมที่จะส่งเลือดสำรองไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ร้อยละ 70 ของเลือดที่ได้ทั้งหมด ตอนนี้เหลือส่งร้อยละ 50 หรือหายไปร้อยละ 25
ทั้งนี้ สถานการณ์ตอนนี้ไม่ใช่ส่งผลกระทบกับแค่ที่กรุงเทพฯ ในต่างจังหวัด เช่น จ.นครศรีธรรมราช ,ภูเก็ต และเชียงใหม่ ก็มีปัญหาคนบริจาคลดลงด้วย ซึ่งหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้โลหิตในการรักษาอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตามเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าเป็นสถานที่ปลอดภัยจาก COVID-19 จึงออกมาตรการ ดังนี้
1.ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ผู้ประสงค์บริจาคโลหิตและบุคคลภายนอกที่เข้ามาภายในอาคาร รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานหากตรวจอุณหภูมิครั้งแรกเกิน 37.5 องศาเซลเซียส ให้นั่งพักรอบริเวณสถานที่จัดไว้ประมาณ 10 นาทีและจะวัดอุณหภูมิครั้งที่ 2 หากผ่านเกณฑ์ให้เข้าสู่ภายในอาคาร หากไม่ผ่านจะมีเอกสารคำแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคต่อไป
2. ติดตั้งแอลกอฮอลล์เจลทั่วอาคาร
3. ทำความสะอาดวัสดุอุปกรณ์ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ 70% alcohol ซึ่งสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้
4. ทำความสะอาดพื้นห้องรับบริจาคโลหิต ห้องปฏิบัติการ ห้องผลิต ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ 0.05% Sodium hypochlorite
5. ทำความสะอาดบริเวณปฏิบัติงาน โต๊ะเก้าอี้ ปุ่มกดลิฟต์ และจุดสัมผัสร่วมต่างๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ 70% alcohol
6. การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลทุกครั้งที่ปฏิบัติงานด้านการรับบริจาคโลหิต
ส่วนมาตรการป้องกันการถ่ายทอดโรคโควิด-19 ทางโลหิต จะมีการสัมภาษณ์เพื่อให้ผู้บริจาคโลหิตคัดกรองตนเอง ก่อนบริจาค ป้องกันความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อจากผู้บริจาคโลหิตไปสู่ผู้รับ ซึ่งผู้บริจาคต้องตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพตรงตามความเป็นจริง เช่น หากเป็นผู้ที่อาศัยหรือเดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 หรือผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ให้งดบริจาคโลหิต 4 สัปดาห์ ส่วนผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดโรคโควิด-19 นับตั้งแต่ตรวจพบเชื้อ และหายป่วยโดย ไม่มีอาการใดหลงเหลืออยู่ให้งดบริจาคโลหิต 3 เดือน เป็นต้น
สำหรับมาตรการดังกล่าวครอบคลุมทั้งศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากา ชาดไทย ศูนย์รับบริจาคโลหิตและพลาสมา สถานีกาชาด 11 วิเศษนิยม (บางแค) ห้องรับบริจาคโลหิต (Fixed Station) เดอะมอลล์ บางกะปิ เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน เดอะมอลล์ บางแค และหน่วยเคลื่อนที่รับบริจาคโลหิต รวมทั้งภาคบริการโลหิตแห่งชาติ รวม 13 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ จังหวัดลพบุรี ชลบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช (ทุ่งสง) สงขลา ภูเก็ต และงานบริการโลหิต สถานีกาชาดหัวหินเฉลิมพระเกียรติ จ.ประจวบคีรีขันธ์
ส่วนกรณีที่มีรายงานว่า 1ในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในเมืองแทกู ในเกาหลีใต้ ได้บริจาคเลือด หลังจากนั้นผู้ป่วยแสดงอาการของโรคโควิด-19 และถูกตรวจพบว่าป่วยเป็นโรคดังกล่าว ถึงแม้ว่าจะมีการเรียกคืนเลือดที่บริจาคไปแล้ว แต่เลือดจำนวนหนึ่งได้ถูกถ่ายให้แก่ผู้รับเลือดจำนวน 9 ราย จะมีโอกาสเกิดขึ้นที่ประเทศไทยหรือไม่ น.ส.ภาวิณี กล่าวว่า ตอนนี้ทั้งในประเทศ และต่างประเทศยังไม่มีการวิจัย หรือศึกษาได้ว่า เชื้อโควิด-19 จะถ่ายทอด หรือติดต่อทางเลือด จึงยังตอบได้ไม่ชัดเจนในประเด็นนี้ แต่จะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่มั่นใจว่ามาตรการที่ออกมา จะทำให้ผู้ที่มาบริจาคโลหิตมั่นใจว่าปลอดภัยอย่างแน่นอน.-สำนักข่าวไทย