ก.พลังงาน 9 มี.ค.- นายกฯ ชะลอพิจารณาเงินเยียวยาโควิด-19 คนละ 1,000 บาท เตรียมเคาะคืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า 3,000 บาทแทน ระบุยังไม่คุย “ธรรมนัส” ให้ตรวจสอบตามขั้นตอน ขออย่านำปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนมาโยงกับเงินบริจาค ขู่ กลุ่มผีน้อยหนีคัดกรองโรค อาจต้องเพิ่มโทษรุนแรง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลง หลังประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง หรือเทียบเท่า ว่า การแก้ปัญหาโรคติดเชื้อโควิด-19 จะต้องทำสร้างความรู้ให้กับประชาชน แม้ยังไม่เข้าระยะที่ 3 แต่ต้องเตรียมการรองรับ ส่วนเรื่องผีน้อย ยืนยัน ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม ได้มีการควบคุมตั้งแต่ต้นทาง และการคัดกรองในประเทศ โดยกรมการบินพลเรือนได้แจ้งทุกสายการบิน ให้แจ้งข้อมูลก่อนเข้าประเทศ และขอข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ติดตามคนที่เข้ามาก่อนวันที่ 8 มีนาคม 63 แต่เป็นเรื่องยาก เพราะบางทีประชาชนไม่ปฎิบัติตามระเบียบ
“ดังนั้น ขอความร่วมมือให้มีความรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม การที่รัฐบาลจะทำอะไร จะต้องขอความร่วมมือประชาชน และในพื้นที่แจ้งข้อมูลเข้าสู่ระบบการคัดกรอง ซึ่งมีกฏหมายอยู่แล้ว หากไม่ผ่านการคัดกรอง จะมีโทษปรับและจำคุก ส่วนที่หลายคนบอกว่า จะให้ปรับเป็นล้านบาท ก็คงทำไม่ได้ แต่หากแก้ไม่ได้ จะไปแก้กฏหมายให้มีโทษปรับรุนแรงขึ้น” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เตรียมพื้นที่สำหรับกักตัวผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ไว้ 200 แห่ง แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด ลักษณะเหมือนที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ปิด และไม่ให้บุคคลภายนอกเข้า-ออก วันนี้ สถานการณ์แพร่ระบาดของไทยยังอยู่ในวงจำกัด และอยู่ในลำดับที่ 25 จากกว่า 100 ประเทศ แสดงว่าการควบคุมของไทยมีคุณภาพ สิ่งสำคัญ คือ ความเชื่อมั่นไว้วางใจซึ่งกันและกัน หลายอย่างตนปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้อยู่แล้ว รวมถึง ส่วนงานราชการต่างๆ ต้องรับผิดชอบร่วมกัน
ส่วนปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ให้มีการตรวจสอบแล้ว ภายใน 1 เดือน 11 โรงงาน จะผลิตได้ 38 ล้านชิ้น เฉลี่ยผลิตได้วันละ 1.2 ล้านชิ้น ส่งให้ทางการแพทย์ 700,000 ชิ้น อีก 500,000 ชิ้น จะจำหน่ายในตลาด ส่วนที่พบว่ามีการกักตุน ขายเกินราคา ให้เข้าไปตรวจสอบแล้ว 5 จุด รวมถึง ที่มีการเผยแพร่ในโซเซียลมีเดีย แต่ยังไม่มีการรายงานผลกลับมา
“ความต้องการหน้ากากอนามัยไม่เพียงพอ ดังนั้น ต้องให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยใช้ก่อน วันนี้ได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปหารือกัน เพิ่มสายการผลิตให้ได้อีก 20 ล้านชิ้น เพื่อนำมาจำหน่ายให้เพียงพอ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงกระแสวิพากวิจารณ์การเปิดรับบริจาค กองทุนแก้ปัญหาโควิด-19 ว่า ไม่ใช่รัฐบาลไม่มีเงิน แต่เป็นข้อเสนอของ ครม. ที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมบริจาค เหมือนกรณีเหตุการณ์โคราช ขออย่าเอาเรื่องหน้ากากอนามัยไม่พอ มาโยงกับเรื่องเงินบริจาค ไม่ใช่แก้ตัว แต่ไม่เป็นธรรมกับตน ยืนยันเงินบริจาคน้ำท่วมยังอยู่ และมีขั้นตอนสามารถตรวจสอบได้
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยังบอกว่า ที่ประชุม ครม.วันพรุ่งนี้ (10 มี.ค.) จะไม่มีการเสนอจ่ายเงินชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ คนละ 1,000 บาท ต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน โดยให้ชะลอออกไปไม่มีกำหนด แต่จะมีการพิจารณาให้คืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า 3,000 บาท ลดค่าน้ำ ค่าไฟ แก็สหุ้งต้ม มาตราการทางภาษี และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึง กรณีผู้ติดตาม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถูกกล่าวหาเกี่ยวข้องในการกักตุนหน้ากากอนามัยส่งขายต่างประเทศ ว่า กำลังตรวจสอบอยู่ และผู้ที่ถูกกล่าวอ้างได้ไปแจ้งความร้องทุกข์แล้ว ตอนนี้ยังไม่จำเป็นต้องเรียก ร.อ.ธรรมนัส มาพูดคุย เพราะเมื่อมีการจับกุม ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้รับโทษ แต่ขออย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าใครผิดถูก ต้องรอตรวจสอบก่อน พร้อมย้ำว่า จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายของการแถลงข่าว นายกรัฐมนตรีได้บอกว่า “คำชี้แจงของผมพอฟังได้ไหม ขอเลิกว่าผมสักที ผมทนไหว ต้องปลุกตัวเองอยู่ตลอดเวลา ว่าต้องทำ ถ้าไม่ทำแล้วจะทำอย่างไรกันต่อไป ในช่วงที่ผมยังอยู่ ขอให้ผมได้ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แต่อยู่ที่ประชาชนจะเข้าใจหรือไม่ ทุกอย่างย่อมเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ คนรุ่นเก่าคนรุ่นใหม่ ความคิดก็ต่างกัน เพราะฉะนั้นความขัดแย้งค่อนข้างสูง แต่ยืนยันว่าจะทำให้ได้ และได้พูดกับ ครม.ไปแล้ว เราไม่ได้ทำการเมือง ในขณะที่บ้านเมืองยังมีปัญหา เราต้องทำงานในนามของรัฐบาล เพื่อประชาชนทั้งประเทศ เป็นรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามรัฐธรรมนูญทุกประการ”.- สำนักข่าวไทย