กทม. 8 มี.ค. -ส.ส.อดีตอนาคตใหม่ มองมาตรการรับมือโควิด-19ของรัฐบาลบกพร่อง แนะต้องจำกัดเที่ยวบินประเทศเสี่ยง กักตัวเท่าเทียมกัน ขอรัฐดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบ
นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส. บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ภาวะโรคโควิด-19 มี 3 ประเด็นที่จะพูดถึง คือ ความล่าช้าของมาตรการภาครัฐ ที่มักจะช้ากว่าสถานการณ์อย่างน้อย 1 ก้าวเสมอ เช่น กรณีผู้ใช้แรงงานที่เกาหลีใต้เดินทางกลับมาก็ขาดขาดมาตรการกักตัว หรือจำกัดบริเวณที่เป็นรูปธรรม ซึ่งล่าสุดก็เพิ่งมีประกาศออกมา กำหนดให้ผู้เดินทางกลับจากประเทศเสี่่ยง 4 ประเทศ คือ จีน รวมถึงฮ่องกง มาเก๊า เกาหลีใต้ อิหร่าน และอิตาลี ที่รัฐต้องจัดการ แต่ก็ช้าไปแล้ว มีคนจากลุ่มประเทศเสี่ยงนี้เข้ามาก่อนแล้ว เช่น ผู้ใช้แรงงานไทยที่กลับมาจากเกาหลีใต้ กว่า 200 คน เป็นต้น จะเห็นว่าปัญหาโรคโควิด -19 ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขฝ่ายเดียว ต้องมีการบูรณาการร่วมกระทรวงอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น รวมถึงเรื่องการกักตัว ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีการปิดกั้นเที่ยวบินที่มีความเสี่ยงเลย รัฐบาลให้น้ำหนักแต่เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องสาธารณสุขและความมั่นคงสุขภาพอนามัยประชาชน ต้องให้น้ำหนักมากขึ้น โดยขอเสนอ ให้เริ่มมีกระบวนการจัดโควต้าวีซ่าให้เที่ยวบินบางประเทศ และหากกลัวกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือกระทบเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ ก็ควรใช้มาตรการกักตัวอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ใช้แต่กับคนไทย และเรื่องการใช้หน้ากากอนามัยและกระจายหน้ากากอนามัยต้องเท่าเทียม ทั่วถึง และเพียงพอ และต้องไม่ปล่อยให้มีการหากำไรจากการขายหน้ากาก
ด้าน นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เขต 1 จ.เชียงราย อดีตพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เรื่องการจัดการโรคโควิด-19 สิ่งที่ต้องเน้น คือ เรื่องพื้นฐานที่สำคัญ ควรดำเนินการอยู่บนข้อมูลและหลักวิชาการ ไม่ใช่ทำตามอำเภอใจ อีกทั้งข้อมูลการระบาดเป็นเรื่องสำคัญต้องเปิดเผย และต้องเป็นข้อมูลที่ตรง ข้อมูลที่จริง เพื่อที่จะสามารถควบคุมโรคได้ โดยเฉพาะการกระจายข้อมูลนี้ไปสู่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ นอกจากนี้อุปกรณ์หน้ากากอนามัยที่ยังขาดแคลน เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องจัดการอย่างเร่งด่วน และการดำเนินการป้องกันโรคในพื้นที่ ซึ่งมีแรงงานจากต่างประเทศที่เดินทางกลับมา แต่ไม่มีการดำเนินการควบคุมโรคอย่างเป็นระบบ บางคนกักตัวอยู่ในบ้าน บางคนก็อยู่ในชุมชนก็มีความหวาดระแวงกัน ดังนั้นรัฐบาลควรเข้าไปดูว่า คนที่กักตัวอยู่อย่างไร ลำบากอย่างไร ต้องสนับสนุนข้อมูลให้ชุมชนได้รู้ข้อเท็จจริงร่วมกันด้วย และเรื่องของการฟื้นฟู วันนี้ยังไม่มีคำยืนยันชี้แจงจากรัฐบาล ว่าถ้าเป็นแบบนี้ คาดการณ์ว่าสถานการณ์จะสิ้นสุดเมื่อใด และกระบวนการทำให้สิ้นสุดได้เร็วนั้นทำอย่างไร รวมถึงความสูญเสีย เศรษฐกิจสังคมที่เกิดขึ้น จะฟื้นฟูทำอย่างไร ตนเองคิดว่าการรับมืออย่างรวดเร็ว มาตรการชัดเจนบนหลักการเป็นสิ่งสำคัญ
ขณะที่นายสุเทพ อู่อุ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงภาคแรงงานต่อสถานการณ์โรคโควิด- 19 ว่า มาตรการเพิ่มเติม 3 ช่วง คือ ช่วงแรก งานบริการ ที่ยังไม่ได้รับอุปกรณ์ในการดูแลป้องกัน ไม่ว่าจะหมอ พยาบาล หรือคนที่อยู่ในสถานประกอบการ รวมไปถึงปัญหาเกี่ยวกับการหยุดกิจการ ที่บางสถานประกอบการถึงขนาดปิดกิจการ ต้องมีวิธีการจ่ายค่าตอบแทน ประชาชนที่ทำงานอยู่ในที่เหล่านี้จะดำรงชีพอยู่ได้อย่างไร ช่วงกลาง คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการซื้ออุปกรณ์ป้องกัน โดยค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันคือ 300 บาทต่อวัน แต่ต้องเสียค่าอุปกรณ์ป้องกันร้อยละ 10 รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ผลักภาระเหล่านี้ให้เป็นของประชาชน ส่วนระยะยาว เรื่องกองทุนเงินทดแทน สถานประกอบการกรณีเกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วยจากงาน ต้องมีความชัดเจน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันผลักดัน รวมถึงการดำเนินการกรณีเงินสมทบเงินประกันสังคม รัฐต้องจริงจัง และร่วมสมทบให้ครบจำนวน หรือแม้แต่กรณีการดูแลกลุ่มผีน้อย ต้องดูแลจัดการมาตรฐานควรระดับเดียวกัน และเรื่องกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ภาครัฐ หน่วยงานต่างๆ ต้องผลักดันให้เกิดขึ้น กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ การส่งเสริมให้มีสหภาพแรงงานในภาครัฐ หรือ GSP.-สำนักข่าวไทย