กรุงเทพฯ 8 ก.พ. –ศูนย์วิจัยกสิรไทยสำรวจพบคนไทยปรับพฤติกรรมรับมือ โคโรนาไวรัส คาดท่องเที่ยวกระทบ1.3-1.7หมื่นล้านบาทหลังคนไทยปรับพฤติกรรมรับมือ โคโรนาไวรัส
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจ “พฤติกรรมของคนไทยกับการปรับตัวท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา และผลต่อภาคธุรกิจต่างๆ” โดยมีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 1,200 คน พบว่า ร้อยละ 66 มีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งพบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้ประชาชนชาวไทยให้ความสำคัญกับการป้องกันตนเองและปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางด้านในช่วงระยะเวลานี้ที่ยังมีความไม่แน่นอนว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเมื่อใด
ทั้งนี้ ภายใต้กรอบเวลา 1-3 เดือน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คนไทยจะมีภาระค่าใช้จ่ายในการป้องกันและดูแลสุขภาพผ่านการซื้อหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ คิดเป็นเม็ดเงินราว 2,200-2,500 ล้านบาท ขณะที่ การปรับพฤติกรรมของประชาชน อาจก่อให้เกิดผลทางลบต่อภาคธุรกิจต่างๆ โดยผลกระทบหลักจะตกอยู่ที่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศผ่านการเลื่อน/ชะลอการเดินทางชั่วคราวคิดเป็นมูลค่าประมาณ 13,100-17,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.0-6.5 ของรายได้ตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงปกติ (การประเมินนี้ ยังไม่รวมผลจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศของภาครัฐ) ขณะที่ผลกระทบต่อรายได้สุทธิในธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารในภาพรวมจากการใช้จ่ายของคนไทยอาจยังอยู่ในกรอบจำกัด คิดเป็นมูลค่าประมาณ 900-1,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ0.02-0.04 เมื่อเทียบกับช่วงปกติ
สำหรับ การกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ผู้ตอบแบบสอบถามให้น้ำหนักกับการที่มีวิธีการรักษาโรคหรือวัคซีนป้องกัน มากที่สุด รองลงมาคือ มาตรการป้องกันและสร้างความเชื่อมั่นของภาครัฐ และการไม่พบจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจ ควรจะมีการรายงานสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้นักท่องเที่ยวมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น โดยอาจสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ เว็บไซต์ เครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจคงต้องเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าองค์กรที่มีแผนการจัดอบรมสัมมนาในประเทศสอดคล้องไปกับมาตรการด้านภาษีของภาครัฐที่ออกมา –สำนักข่าวไทย