กรุงเทพฯ 27 ม.ค. – รมว.เกษตรฯ ติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัดบุรีรัมย์ มั่นใจน้ำอุปโภค-บริโภคเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้ง ย้ำหาแหล่งน้ำสำรอง เตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ รถบรรทุกน้ำพร้อมเข้าถึงทุกพื้นที่
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เป็นห่วงสถานการณ์ภัยแล้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปีที่ผ่านมาฝนตกต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย น้ำในอ่างเก็บน้ำมีน้อย โดยเฉพาะจังหวัดบุรีรัมย์ได้รับรายงานว่ามีแนวโน้มไม่เพียงพอสนับสนุนน้ำ เพื่อผลิตประปา จึงสั่งการนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน หาแนวทางสำรองน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้จนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าด้วย
ทั้งนี้ โครงการชลประทานบุรีรัมย์รายงานว่า ปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากและอ่างเก็บน้ำห้วยตลาดมีน้ำรวมกันประมาณ 2.028 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจากการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาสถานการณ์น้ำในเขต จ.บุรีรัมย์ระหว่างสำนักชลประทานที่ 8 และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เขต 8 คาดว่าจะสามารถรองรับการผลิตประปาได้ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมาได้แก้ไขโดยสูบน้ำที่สถานีลำปลายมาศ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา เข้าอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากและอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด แต่ยังไม่เพียงพอจึงจะผันจากอ่างเก็บน้ำลำจังหันและอ่างเก็บน้ำลำปะเทีย เทศบาลตำบลประโคนชัย อ. ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ซึ่งสามารถใช้ได้อีก 1 เดือน จากแนวทางการจัดหาน้ำเพิ่มเติมดังกล่าว ทำให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ได้ถึงประมาณวันที่ 30 พฤษภาคม 2563 หลังจากนั้นจะใช้น้ำจากระบบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยสวาย ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง โดย กปภ.คาดว่าจะเสร็จประมาณวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 อีกทั้งประสานงานกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรทำฝนหลวงในเขตพื้นที่รับน้ำของอ่างฯ ห้วยจระเข้มาก เพื่อเพิ่มน้ำในอ่างมากที่สุด
นายทองเปลว กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งในเขตสำนักงานชลประทานที่ 8 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ จ. นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย (ภัยแล้ง) 2 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน นครราชสีมา 8 อำเภอ ได้แก่ โนนสูง จักราช ปักธงชัย เทพารักษ์ โนนไทย แก้งสนามนาง และสีคิ้ว ส่วนบุรีรัมย์ 8 อำเภอ ได้แก่ พลับพลาไชย ประโคนชัย โนนดินแดง หนองหงส์ ละหานทราย นางรอง และเฉลิมพระเกียรติ สำหรับ จ.สุรินท์มีปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่ออุปโภค – บริโภคในนอกเขตชลประทาน จึงร่วมกับเทศบาล ต.กังแอน อ.ปราสาท ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยตาลวกมายังอ่างเก็บน้ำสุวรรณภา รวมทั้งสิ้น 918,240 ลบ.ม. เพื่อช่วยเหลือ 2,625 ครัวเรือนใน 8 หมู่บ้าน ส่วน จ.ศรีสะเกษ ส่งรถบรรทุกน้ำและเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่นอกเขตชลประทานแล้วเช่นกัน.-สำนักข่าวไทย