กรมอนามัย 9 ม.ค.-อธิบดีกรมอนามัย แนะนำอาหารกล่องที่จัดเลี้ยงในวันเด็ก ต้องสะอาด ปลอดภัย เลี่ยงการปรุง ประกอบเก็บไว้นานเกิน 4 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้บูดได้ พร้อมแนะเพิ่มผลไม้เป็นอาหารว่าง เช่น ส้ม กล้วย หรือชมพู่
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมในวันเด็กจะมีการจัดเลี้ยงอาหารสำหรับเด็กที่มาร่วมงานหรือร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นการเลี้ยงในมื้อกลางวันและต้องจัดเตรียมเป็นจำนวนมาก จึงต้องใช้เวลาในการเตรียมอาหารดังกล่าวตั้งแต่เช้าและจัดทำเป็นอาหารกล่องเพื่อความสะดวกในการแจกเด็ก ๆ ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาดของอาหารเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาโรคจากอาหารเป็นพิษหรือท้องเสียได้ โดยการปรุงประกอบต้องเลือกวัตถุดิบที่สะอาด ปลอดภัย ล้างให้สะอาดก่อนนำมาปรุง ผู้ประกอบอาหารต้องมีสุขลักษณะในการปรุงประกอบอาหารที่ถูกต้อง เช่น สวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม ตัดเล็บสั้น ไม่ใช้มือหยิบจับอาหาร เป็นต้น ภาชนะบรรจุอาหารต้องสะอาด ปลอดภัย และงดใช้โฟมบรรจุอาหาร
ส่วนการจัดเตรียมอาหารกล่องสำหรับผู้ประกอบการนั้น ควรเน้นการปรุงให้สุกด้วยความร้อน และแยกข้าวกับกับข้าวไม่ปะปนกัน ไม่วางข้าวกล่องที่บรรจุเสร็จแล้วตากแดดหรือวางบนพื้น ควรเขียนวันเวลาที่ผลิตไว้เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค และสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือการทำอาหารไว้ล่วงหน้าไม่ควรนานเกิน 4 ชั่วโมง เพราะจะทำให้อาหารบูดเสียได้
“อาหารกล่องเพื่อแจกเด็กๆ ควรเป็นอาหารที่ไม่บูดเสียง่าย กินได้ง่าย เช่น ข้าวเหนียวหมูทอด ข้าวเหนียวไก่ทอด ควรเพิ่มผลไม้เป็นอาหารว่าง เช่น ส้ม กล้วย หรือชมพู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ ได้แก่ ข้าวมันไก่ ข้าวผัดปู อาหารประเภทยำหรืออาหารที่ปรุง โดยไม่ผ่านความร้อนหรือปรุงแบบสุกๆดิบๆ อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบหรือขนมเอแคลร์ เป็นต้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ส่วนน้ำแข็งที่นำมาใส่น้ำดื่มหรือน้ำหวาน ควรเป็นน้ำแข็งที่ได้มาตรฐานสำหรับการบริโภคเท่านั้น หากไม่แน่ใจว่าน้ำแข็งนั้น จะสะอาดหรือเปล่า ควรหลีกเลี่ยง และให้บริการน้ำดื่มบรรจุขวดแช่เย็นแทนน้ำหวานหรือน้ำน้ำอัดลมจะดีกว่า เพราะนอกจากจะสะอาดปลอดภัยแล้ว ยังช่วยลดปริมาณน้ำตาลที่เด็กจะได้รับในแต่ละวันลงด้วยเพื่อสร้างสุขนิสัยที่ดีในการบริโภคอาหารของเด็กให้ถูกหลักโภชนาการ
สำหรับครูหรือผู้ปกครองที่นำเด็กไปเที่ยวงานวันเด็ก เมื่อได้รับแจกข้าวกล่องมาก่อนจะให้เด็กๆ กิน ต้องให้เด็กล้างมือให้สะอาดก่อนกิน พร้อมทั้งสังเกตหรือสอนให้เด็กรู้จักสังเกตว่าอาหารนั้นมีกลิ่นผิดปกติหรือบูดเสียหรือไม่ หากพบว่าอาหารบูดเสียไม่ควรกินและแจ้งให้แก่ผู้จัดงานทราบ เพื่อจะสามารถเตือนผู้อื่นให้ระมัดระวังอาหารดังกล่าว .-สำนักข่าวไทย