รร.แอมบาสเดอร์ 31 ต.ค.-อธิบดีกรมอนามัยเผยสถิติแม่วัยรุ่นตั้งครรภ์ ลดลงต่อเนื่อง ปี61เหลือ 35 คนต่อประชากรวัยรุ่น มีอัตราคลอด 72,566 คน ตั้งเป้าปี 69 เหลือ 25 คนต่อประชากรวัยรุ่น ขณะเดียวกันอัตราการตั้งครรภ์ซ้ำในแม่วัยรุ่นก็ลดลงเหลือร้อยละ 9 เชื่อสาเหตุมาจากการให้ความรู้เพศศึกษามากขึ้น และจ่ายยาคุมกำเนิดในเด็กกลุ่มเสี่ยง เพราะเด็กบางคนท้องซ้ำมากกว่า 4 ครั้ง
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเปิดรายงานการบูรณาการแม่วัยรุ่น เพื่อวางแผนและดำเนินการลดการตั้งครรภ์ ในวัยรุ่นอย่างต่อเนื่อง ว่า ในปี2561มีแนวโน้มปัญหาการตั้งครรภ์ในแม่วัยรุ่น อายุ10-19 ปี ลดลงเหลือ 35 คน ต่อประชากรวัยรุ่นและมีอัตราการคลอดบุตรในแม่วัยรุ่น 72,566 คน แบ่งเป็นแม่วัย 10-14 ปี 2,385 คน แม่วัยรุ่น อายุ 15-19 ปี 70,181 คน และหากคิดเป็นอัตราการเกิดแม่วัยรุ่นจะพบว่า ใน1 ปี สามารถพบอัตราแม่วัยรุ่นได้ถึง 199 คน
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาทางกรมอนามัย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุาย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ จึงร่วมกันแก้ไขปัญหา ทั้งการให้การศึกษาและจัดสิทธิประโยชน์ป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในเด็ก และช่วยคืนเด็กที่ผิดพลาดกลับสู่สังคมเดิม โดยตั้งเป้า ปี 2569 อัตราแม่วัยรุ่นลดลงเหลือ 25 คน ต่อประชากรวัยรุ่น
พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อไปอีกว่า จากการเก็บข้อมูลแม่วัยรุ่น พบว่าการค้นแม่วัยรุ่นตั้งครรภ์ มักจะพบคนละพื้นที่กับที่ที่มีการคลอดบุตร ส่วนหนึ่งเพราะเด็กเมื่อมีการแจ้งหรือครอบครัวรับทราบว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น แม่วัยรุ่นเหล่านั้นมักหลายตัวออกไปจากสังคม ครอบครัว โรงเรียน จึงพบว่าอัตราการเกิดของเด็กกับทะเบียนของแม่เป็นคนละพื้นที่กัน ดังนั้น จึงมีการเพิ่มกลไกการติดตาม ลงลึกไปในระดับอำเภอพบว่า พื้นที่มีมักพบการตั้งครรภ์ในแม่วัยรุ่น มีปัจจัยมากจาก 1.พื้นที่ใหญ่เป็นจุดที่มีระบบการศึกษา เชื่อมต่อ หลายระดับ 2.มีการอพยพเคลื่อนย้ายของแรงงาน 3.อยู่ตามชายขอบ เช่น พวกชนเผ่า
พญ.พรรณพิมล กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังพบว่าหลังจากที่สปสช. มีการอนุมัติ ครอบคลุมยาคุมกำเนิดในเด็กกลุ่มเสี่ยง ตั้งครรภ์ซ้ำ ทำให้อัตราการตั้งครรภ์ในแม่วัยรุ่นลดลง เหลือ ร้อยละ 9 จากเดิมร้อยละ. 12 โดยพบว่า อัตราการตั้งครรภ์ซ้ำนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป และมากสุดพบว่า มีอัตราการตั้งครรภ์ในแม่วัยรุ่นคนเดิมมากกว่า 4 ครั้ง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในแม่วัยรุ่นจะเน้นการเก็บข้อมูลตั้งทางปลายทาง เพื่อทราบข้อมูลแม่ ขณะเดียวกัน ก็จะทราบที่มาของเด็ก ว่า มาจากที่ใด .-สำนักข่าวไทย