รร.เซ็นจูรี่ 2 ธ.ค.-นักวิชาการ ชี้ภาคเหนือ ตะวันตก เสี่ยงได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวมากที่สุด โดยเชียงรายมีโอกาสเกิดแผ่นดินจากรอยเลื่อนได้มากถึง 6.5 ริกเตอร์ เตรียมวางแผนศึกษาร่วมโยธา และผังเมือง วางกฎหมายสิ่งปลูกสร้างใหม่ พร้อมแก้ปัญหาสะพาน หวั่นได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว
ในการสัมมนาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูถัมภ์(วสท.) เรื่อง “สัมมนาวิชาการต้านแผ่นดินไหว สู่มาตรการป้องกันและบรรเทาอย่างเข้มแข็ง”
นายเป็นหนึ่ง วานิชชัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย กล่าวว่า ทีมนักวิจัยซึ่งเป็นคณาจารย์จากหลายสถาบัน ได้ร่วมกันแบ่งศึกษาพื้นที่ที่อาจเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหว รวมถึงรอยเลื่อนต่าง ๆในไทย พบว่าในพื้นที่ของประเทศที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ระดับปานกลาง ใน 2 ภาค ได้แก่ ภาคตะวันตกและภาคเหนือ โดยภาคเหนือ จ.เชียงราย มีโอกาสเสี่ยงเกิดแผ่นดินจากรอยเลื่อนได้ถึง 6.5 ริกเตอร์ เนื่องจากมีรอยเลื่อนกระจายอยู่มากและมีรอยเลื่อนเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาร์และลาว ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมทั้งแผนแม่บทและมาตรการรับมือ โดยได้ศึกษาร่วมกับโยธาธิการและผังเมือง รวมถึงกรมทางหลวงชนบท ออกมาตรการควบคุมสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ให้สามารถรองรับแผ่นดินไหวได้
นายเป็นหนึ่ง กล่าวต่อว่า ที่น่าห่วงคือสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ภาคเหนือที่เริ่มมีความคล้ายคลึงใน กทม. เช่นการนิยมอาคารคอนกรีตสำเร็จ ซึ่งความจริงแล้วถือว่ามีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากแผ่นดินมาก ด้วยโครงสร้างและเสาฐานรากไม่ได้รองรับแผ่นดิน อีกทั้งสะพานในอดีตก็ไม่ได้มีการรองรับแผ่นดิน ซึ่งจะต้องค่อยๆ หารือและศึกษา เบื้องต้นมีแนวคิดเปลี่ยนฐานเชื่อมต่อตอม่อของสะพาน เสริมแผ่นเหล็กเชื่อมต่อ เพื่อให้เมื่อเกิดแผ่นดินไหวสามารถลดแรงสั่นสะเทือนได้ โดยใน จ.เชียงราย ยังมีรอยเลื่อนแม่จันที่ยังต้องจับตาดูและศึกษา เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีการระเบิดในใต้ดิน
สำหรับ กทม.มีสภาพเป็นดินอ่อน แอ่งกระทะ อาคารสูงเสี่ยงได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวได้ ต้องร่วมกับกรมโยธิการและผังเมืองสำรวจอาคารเสี่ยง ออกมาตรการแก้ไข ซึ่งจากการสำรวจเมื่อปี 2557 พบว่าในพื้นที่ กทม.มีอาคารสูง 12-88 ชั้น มากถึง 1,434 หลัง มีผู้อยู่อาศัยเฉลี่ย 600-1,900 คน/หลัง หากเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในรอบ 2,500 ปี อาจทำให้มีอาคารสูง 4-17 ชั้น ถล่มได้รับความเสียหายได้ .-สำนักข่าวไทย