กสม.เผยพบกระบวนการยุติธรรมถูกร้องเรียนละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด

กรุงเทพฯ 27 ธ.ค.- กสม. เผยเรื่องร้องเรียนปี 2562 พบการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมถูกร้องเรียนมากที่สุด  หน่วยงานที่ถูกร้อง ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมราชทัณฑ์ และ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า  “วัส ติงสมิตร” ขอบคุณรัฐบาลจัดทำและประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยสถิติเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม 2562 ว่า มีการร้องเรียนเข้ามา  727 เรื่อง  ประเด็นสิทธิที่ร้องเรียนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 สิทธิในกระบวนการยุติธรรม   คิดเป็นร้อยละ 29  เช่น กรณีกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทำร้ายผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยระหว่างการจับกุม  การไม่แสดงหมายจับ ไม่แจ้งสิทธิผู้ต้องหาหรือดำเนินคดีล่าช้า   ผู้ต้องขังในเรือนจำได้รับการปฏิบัติไม่เป็นธรรมหรือต้องอาศัยอยู่ในสภาพเรือนจำแออัด ไม่มีสุขอนามัย   โดยหน่วยงานที่ถูกร้องว่าละเมิดสิทธิ ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานในสังกัดกรมราชทัณฑ์  และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า

อันดับที่ 2  การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม  คิดเป็นร้อยละ 16 เช่น  กรณีการกำหนดคุณสมบัติตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่นไม่ตรงกับมาตรฐานกำหนด   มหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้นักศึกษาแต่งกายตามเพศสภาพ  และการกำหนดคุณสมบัติห้ามผู้ติดเชื้อ HIV เข้ารับราชการตำรวจ  โดยหน่วยงานที่ถูกร้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ


ส่วนอันดับที่ 3 สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล  คิดเป็นร้อยละ 12  เช่น กรณีนักเรียนถูกบังคับตัดทรงผมที่ไม่เป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด  การขอให้ลบประวัติอาชญากรรมของเด็กและเยาวชนจากทะเบียนประวัติอาชญากร  และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกคุกคาม โดยหน่วยงานที่ถูกร้อง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

ขณะที่กรรมการสิทธิฯ  มีเรื่องร้องเรียนทั้งเรื่องที่ค้างเก่าและเรื่องที่ร้องเรียนใหม่ในปี 2562  ที่ต้องพิจารณา 912 เรื่อง และได้จัดทำรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว 499 เรื่อง   นอกจากนี้ยังได้จัดทำข้อเสนอแนะมาตรการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเชิงระบบไปยังรัฐสภา  คณะรัฐมนตรี  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีก  4 เรื่อง 

สำหรับรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน จำนวน 499 เรื่องในปี 2562 นั้น ประเด็นสิทธิ 3 อันดับแรก อันดับที่ 1 ได้แก่สิทธิชุมชน  เช่น  ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในการดำเนินโครงการพัฒนาของรัฐหรือเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ  และชุมชนได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่จากโครงการดังกล่าว  อันดับที่ 2 ได้แก่ สิทธิในชีวิตและร่างกาย เช่น เจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานบุคคลผู้ต้องสงสัยในระหว่างถูกควบคุมตัว  และอันดับ 3 ได้แก่ สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน  เช่น กรณีพื้นที่สาธารณะประโยชน์ทับที่ดินของประชาชน และการโต้แย้งสิทธิการครอบครองที่ดินของราษฎร


ส่วนการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อเสนอต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4  เรื่อง  ได้แก่ 1.ข้อเสนอแนะการดำเนินงานด้านกระบวนการยุติธรรมจากการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องขัง  ซึ่งเป็นสถานที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน 2. ข้อเสนอแนะพนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานของรัฐไม่ได้รับความเป็นธรรม  3. ข้อเสนอแนะการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ  และ  4.ข้อเสนอแนะการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะของคนพิการ

นายวัส ติงสมิตร  ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  กล่าวว่า ก่อน กรรมการสิทธิฯ ชุดที่ 3 จะเข้ามารับหน้าที่  มีเรื่องการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ดำเนินการเสร็จไปประมาณร้อยละ 10 คงค้างอยู่ร้อยละ 90  เมื่อชุดที่ 3 เข้ามารับหน้าที่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2558  จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 สามารถออกรายงานผลการตรวจสอบได้ร้อยละ 80 คงค้างอยู่ร้อยละ 20 ในระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2562  มีร่างรายงานผลการตรวจสอบที่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองเสร็จ  และรอการพิจารณาจากที่ประชุม กสม. ร่วม 200 เรื่อง แต่ กสม.ไม่สามารถเปิดประชุมได้  เพราะมีกรรมการสิทธิฯ ลาออก 2 คน ทำให้เหลือกรรมการสิทธิฯ เพียง 3 คน  ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง คือ 4 คน  

ภายหลังที่มีการแต่งตั้งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการชั่วคราวเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นมา จนถึงปลายเดือนธันวาคม 2562 ทำให้สามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบเรื่องร้องเรียนและร่างรายงานผลการตรวจสอบที่รอการพิจารณาได้ถึง 389 เรื่อง โดยสะสางเรื่องที่รอการพิจารณาในช่วงที่มีกรรมการไม่ครบจำนวนได้มากกว่าครึ่งของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด  ทำให้ปัจจุบันคงมีเรื่องร้องเรียนที่จะต้องดำเนินการอยู่ร้อยละ 10 

“ขอขอบคุณรัฐบาลที่ได้จัดทำ และประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน  ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน  ซึ่งได้ส่งผลทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้ที่มีการจัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าว  ตามที่ กสม. ได้มีข้อเสนอแนะไปก่อนหน้านี้ และวางระบบในการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจาก กสม. ทั้งยังส่งต่อข้อเสนอแนะต่าง ๆ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบและให้ความเห็น หรือชี้แจงในประเด็นปัญหา อันจะทำให้การคุ้มครองสิทธิของประชาชน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายเรื่องสามารถจัดการให้ลุล่วงได้โดยไม่ล่าช้า” นายวัส กล่าว.-สำนักข่าวไทย  

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ชนแล้วหนี! 2 หนุ่มกลัวถูกจับดึงสลักระเบิดดับ

2 หนุ่มชนแล้วหนี โบกรถมาขึ้นสามล้อเครื่อง ตำรวจตามกระชั้นชิด ตัดสินใจดึงสลักระเบิด แต่สะดุดล้มระเบิดตูมสนั่นดับ 1 ส่วนอีกคน ถูกจับโดยละม่อม

“ไบเดน” เปิดทำเนียบขาวต้อนรับ “ทรัมป์” ถกถ่ายโอนอำนาจ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐเปิดห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาวหารือนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดี ซึ่งต่างให้คำมั่นการถ่ายโอนอำนาจจะเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด

“อี้ แทนคุณ” เผยคดีใหม่ “ฟิล์ม” ชวนลงทุนคล้าย forex เสียหายกว่า 60 ล้าน

“อี้ แทนคุณ” เผยคดีใหม่ “ฟิล์ม รัฐภูมิ” ชักชวนลงทุนในดูไบ คล้าย forex ความเสียหายกว่า 60 ล้านบาท ขณะที่อีกฝ่ายอ้างนำเงินไปลงทุนจริงแต่ขาดทุน

ข่าวแนะนำ

“หนุ่ม กรรชัย” งดเคลียร์ “ฟิล์ม” ย้ำดำเนินคดีถึงที่สุด

“หนุ่ม กรรชัย” ประกาศตัดสัมพันธ์ “ฟิล์ม รัฐภูมิ” ย้ำดำเนินคดีถึงที่สุด งดเคลียร์ ซัดเป็นคนไร้ศักดิ์ศรี ชี้เรื่องนี้ไม่ต้องเตือน ให้ย้อนไปดูที่บ้านได้สั่งสอนหรือไม่

เริ่มแล้ว ประเพณียี่เป็งหรือลอยกระทงเชียงใหม่

ประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทง จ.เชียงใหม่ ปีนี้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งเต็มไปด้วยแสงสีจากแสงไฟที่ประดับไปทั่วเมือง และความงดงามทางวัฒนธรรมมากมาย ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ท่ามกลางอากาศเย็นสบาย

“จิราพร” สั่งตรวจสอบปมคลิปเสียงอ้างชื่อ-จ่อแจ้งความเอาผิด

“จิราพร สินธุไพร” ยืนยันไม่รู้จักนักร้องเรียนหญิง ที่แอบอ้างว่าเป็นคณะทำงาน ประสานฝ่ายกฎหมายเร่งตรวจสอบคลิปเสียง เพื่อแจ้งความดำเนินคดี

“หนุ่ม กรรชัย” เข้าให้ปากคำปมถูกอ้างชื่อเรียกรับเงินบอส “ดิไอคอน”

“หนุ่ม กรรชัย” เข้าพบพนักงานสอบสวนกองปราบฯ ให้ปากคำกรณีถูกแอบอ้างชื่อเรียกรับเงินผู้บริหาร “ดิไอคอน”