กรุงเทพฯ 17 ธ.ค. – กรมท่าอากาศยานเดินหน้าโครงการท่าอากาศยานนครปฐม จัดสัมมนาทดสอบความสนใจของภาคเอกชน
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การทดสอบความสนใจของภาคเอกชนโครงการท่าอากาศยานนครปฐมครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งสนามบินนครปฐม ที่กรมท่าอากาศยานดำเนินการขึ้น เพื่อศึกษาความต้องการใช้ท่าอากาศยาน และเปรียบเทียบพื้นที่ทางเลือกที่มีศักยภาพในการก่อสร้างสนามบิน โดยพิจารณาหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม รวมทั้งสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแบบก่อสร้าง เพื่อบรรเทาความคับคั่งของท่าอากาศยานหลัก และอำนวยความสะดวกประชาชน
ทั้งนี้ จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการก่อสร้าง คือ อำเภอบางเลน (ต.บางระกำ ต.ลำพญา) และอำเภอนครชัยศรี (ต.บางแก้วฟ้า ต.บางพระ ต.วัดละมุด) ซึ่งห่างจากโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ประมาณ 5.3 กิโลเมตร และใช้ระยะเวลาในการเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาที ซึ่งจากการออกแบบโครงการฯ จะมีพื้นที่ขนาด 3,500 ไร่ ทางวิ่งขนาด 45×2,500 เมตร อาคารที่พักผู้โดยสาร 3 อาคาร พื้นที่ประมาณ 115,740 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 5,100 คนต่อชั่วโมง อาคารและลานจอดรถ จอดรถได้ประมาณ 4,200 คัน
สำหรับรูปแบบการลงทุนกรณีให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานนครปฐมสำหรับรองรับการบิน ได้ทำการวิเคราะห์เป็น 3 กรณี ได้แก่ 1. รัฐลงทุนค่าที่ดิน เอกชนลงทุนการก่อสร้างทั้งหมด โดยเอกชนจัดสรรรายได้ให้ภาครัฐ 5% จะมีระยะเวลาคืนทุน 18.67 ปี 2.รัฐลงทุนที่ดินและงานระบบโครงสร้างพื้นฐาน (ยกเว้นลานจอดเครื่องบิน) เอกชนลงทุนอาคารที่พักผู้โดยสาร อาคารปฏิบัติการภาคพื้นดิน ลานจอดเครื่องบินทั้งหมด โดยเอกชนจัดสรรรายได้ให้ภาครัฐ 50% จะมีระยะเวลาคืนทุน 20.25 ปี 3.รัฐลงทุนที่ดิน งานระบบโครงสร้างพื้นฐาน งานอาคารที่พักผู้โดยสาร ลานจอดเครื่องบินพาณิชย์ เอกชนลงทุนอาคารผู้โดยสาร อาคารปฏิบัติการภาคพื้นดิน ลานจอดเครื่องบินธุรกิจ โดยเอกชนจัดสรรรายได้ให้ภาครัฐ 52% จะมีระยะเวลาคืนทุน 20.17 ปี ซึ่งวันนี้ถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเกี่ยวกับการลงทุน เพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ปัจจุบันโครงการท่าอากาศยานนครปฐมอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการศึกษาความเหมาะสมในการให้เอกชนร่วมลงทุน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2562 และเมื่อดำเนินการเสร็จจะต้องนำเสนอต่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการและงบประมาณในการลงทุนต่อไป.-สำนักข่าวไทย