กรุงเทพฯ 16 ธ.ค. – ไออาร์พีซี ผนึก วช – ม.เกษตร ประกาศความร่วมมือเป็นต้นแบบสร้างระบบรับรอง Zero Plastic Waste จับมือลูกค้า 15 ราย นำขยะพลาสติกจากโรงงานมารีไซเคิลใหม่ทั้ง Supply Chain นำประเทศสู่สังคมปลอดขยะพลาสติก
ในวันนี้ บมจ.ไออาร์พีซี ร่วมกับลูกค้าโรงงาน 15 แห่ง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์แก้ไขปัญหาขยะพลาสติกลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน และพร้อมนำประเทศสู่สังคม Zero Plastic Waste โดยร่วมมือในการบริหารจัดการขยะพลาสติกจากแหล่งกำเนิด ไม่ปล่อยให้มี Waste Polymer หรือของเสียออกจากกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติก ตามโมเดล ECO Solution ด้วยการบริหารจัดการทั้งห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมพลาสติก (Closed Loop) โดยจะมีกระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีมีประสิทธิภาพ ไม่ทำให้ขยะพลาสติกที่เกิดจากกระบวนการผลิตออกนอกระบบไปเป็นภาระแก่ชุมชนและสังคม
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. มีความเห็นว่าการใช้หลักการ Sharing as Beneficial Principle จะเป็นมาตรการสำคัญในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก โดยสนับสนุนให้ ม.เกษตรศาสตร์ พัฒนาระบบการรับรอง Zero Plastic Waste สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกขึ้น เพื่อให้การรับรองอุตสาหกรรมที่ลดการเกิดขยะพลาสติกได้อย่างเบ็ดเสร็จ หรือขยะพลาสติกเป็นศูนย์ โดยไออาร์พีซี เป็นบริษัทแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองดังกล่าวในกระบวนการผลิต หรือ Zero Plastic Waste in Production Process โดยระบบการรับรอง Zero Plastic Waste ที่สร้างขึ้นนี้จะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมพลาสติกของประเทศ และเป็นแม่แบบให้แก่ 10 ประเทศในกลุ่ม ASEAN ในอนาคต
นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือไออาร์พีซี กล่าวว่า โครงการนี้ไออาร์พีซียังได้นำ Big Data สร้างเป็นฐานข้อมูล Plastic Waste Platform เพื่อรวบรวมขยะพลาสติกจากแหล่งผลิตแต่ละโรงงานทั้งของไออาร์พีซี และลูกค้า ทำให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่ายขึ้น และการบริหารจัดการขยะพลาสติกมีประสิทธิภาพสูง ประหยัดงบประมาณ และยังใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าอีกด้วย โดยไออาร์พีซีพร้อมจะใช้ไลน์ผลิตที่มีอยู่ในการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างสูงโดยเฉพาะสหภาพยุโรป
นายนพดล กล่าวว่า ปี 2563 คาดว่ามาร์จิ้นของธุรกิจปิโตรเคมีจะดีขึ้นจากปีนี้ หลังสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลงไปประมาณร้อยละ 40 นั้น จะมีทิศทางที่ดีขึ้น จากที่ล่าสุดสหรัฐและจีนได้บรรลุข้อตกลงการค้าระยะแรกแล้ว ก็เชื่อว่าสถานการณ์ต่าง ๆ น่าจะปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาปิโตรเคมีที่ลดลงมากในปัจจุบันทำให้โรงงานหลายแห่งทั่วโลกอาจต้องลดกำลังการผลิต หรือปิดตัวลง ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตบางส่วนหายไป และน่าจะผลักดันให้ราคาปิโตรเคมีน่าจะมีเสถียรภาพและดีขึ้นเล็กน้อย
นอกจากนี้ ในส่วนเกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ ร้อยละ 0.5 จากเดิมร้อยละ 3.5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 นั้น น่าจะเริ่มส่งผลบวกต่อผู้ประกอบการที่ผลิตน้ำมันเตากำมะถันต่ำได้ ส่วนการดำเนินการในอนาคตจะเน้นการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด รวมถึงการขยายกำลังการผลิตในลักษณะการขยายแบบคอขวด (debottleneck) เน้นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงชนิดพิเศษ (Specialties) มากขึ้น เละจะเน้นการขายตลาดในประเทศให้มากขึ้นโดยวางเป้าหมายจะเพิ่มการผลิตเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษปี 2563 เป็นระดับ ร้อยละ 60 จากร้อยละ 55 ในปีนี้ และเพิ่มเป็นร้อยละ 70 ในอนาคต
นอกจากนี้ บริษัทยังมองโอกาสขยายความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อเข้าสู่ตลาดเม็ดพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีมูลค่าสูงมากขึ้น โดยต้นปีหน้าจะลงนามกับพันธมิตรเพื่อตั้งบริษัทร่วมทุนฝ่ายละร้อยละ 50 จำหน่ายเม็ดพลาสติกพีพี คอมปาวด์เกรดพิเศษ (PP Comound) เพื่อป้อนให้กับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิต PP Compound ประมาณ 140,000 ตัน/ปี แต่ยังไม่สามารถผลิตได้เต็มที่ หากได้จำหน่ายให้กับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นมากขึ้น ก็จะช่วยหนุนปริมาณการผลิตได้เพิ่มขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนับว่ามีมาร์จิ้นดีกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไปประมาณร้อยละ10-15 และบริษัทยังส่งออกเม็ดพลาสติกเพื่อยานยนต์ไปตลาดอินโดนีเซียและเวียดนามอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย