กรุงเทพฯ 5 พ.ย. – ปมร้อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ทั้งพรรคฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาล ต่างผลักดันเป็นวาระเร่งด่วน หลายสายตาจึงจับจ้องไปที่การเปิดสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญ ในวันพรุ่งนี้ หวังให้การศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มนับหนึ่งให้ได้ และไม่กลับไปสู่วังวนเดิมๆ ทางการเมือง
ญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ถือเป็นเรื่องร้อนที่ผู้เสนอร่างทั้ง 7 พรรคฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคชาติไทยพัฒนา เสนอผลักดันให้เป็นวาระเร่งด่วน นั่นเท่ากับว่า การเปิดสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญ ในวันพรุ่งนี้ (6 พ.ย.) ทั้ง 4 ร่างจะถูกขับเคลื่อนทันที โดยตั้งเป้าว่า การศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเริ่มนับหนึ่งเดินก้าวแรกในช่วง 4 เดือนของการเปิดประชุมสภาฯ สมัยนี้ อย่างน้อยต้องตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เมื่อพิจารณาทั้ง 4 ร่าง จะเห็นสิ่งที่เหมือนกัน คือ ไม่แตะหมวดที่ 1 และ 2 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าด้วยชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนที่คล้ายคลึงกันอีกเรื่อง คือ ประเด็นมาตรา 256 ที่เป็นประตูบานแรกให้แก้รัฐธรรมนูญได้ แต่วิธีการที่จะได้มาในจุดนี้ยังไม่ชัดเจน กรรมาธิการต้องคิดว่าจะใช้กระบวนการรัฐสภาเพียงอย่างเดียว หรือต้องมีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาทำหน้าที่นี้ แต่ไม่ว่าช่องทางไหนก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปีทั้งสิ้น แม้ทุกฝ่ายจะเห็นตรงกันว่า รัฐธรรมนูญมีปัญหา จำเป็นต้องแก้ไข
ด่านแรกของการชิงความได้เปรียบ คือ การเลือกคนที่จะเป็นประธานกรรมาธิการฯ เชื่อว่าจะถูกส่งจากฟากฝั่งรัฐบาล วัดจากเสียงของคณะรัฐมนตรีและรัฐบาลที่มากกว่าเสียงของฝ่ายค้าน ชื่อของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ ถูกชูขึ้นมาหยั่งเชิง แต่ขณะนี้ยังไม่มีเสียงยืนยันจากปากเจ้าตัวว่าจะรับตำแหน่งนี้หรือไม่ ถึงกระนั้นก็ถูกเตะสกัดจากพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐแล้วว่า ควรเป็นคนของพรรคแกนนำ ทั้งยังถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องความเหมาะสม หากพรรคเพื่อไทยยกมือหนุน ในฐานะที่เป็นคู่ขัดแย้งกันมาในช่วงชุมนุมคนเสื้อแดง ซึ่งอาจทำให้เสียมวลชนได้
ส่วนรายชื่อกรรมาธิการที่เปิดออกมาบ้างแล้วบางส่วน ล้วนมากฝีมือการเมือง ทั้งนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายโภคิน พลกุล นายชูศักดิ์ ศิรินิล จากพรรคเพื่อไทย นายปิยบุตร แสงกนกกุล จากอนาคตใหม่ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน จากค่ายประชาธิปัตย์ นายวิรัช รัตนเศรษฐ และนายวิเชียร ชวลิต จากพลังประชารัฐ และนายนิกร จำนง จากชาติไทยพัฒนา
นักวิชาการมองว่า สัดส่วนกรรมาธิการต้องมาจากทุกฝ่าย และต้องตกผลึกในประเด็นที่ต้องการแก้ จะทำให้การแก้สำเร็จได้
นักวิชาการยังมองวิธีการแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา คือ จำเป็นต้องใช้สภาร่างรัฐธรรมนูญ แม้จะใช้เวลามาก แต่เป็นทางออกที่ดีที่สุด
สุดท้ายแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดได้จริง ก็คงต้องวัดใจ ส.ว. ว่าจะให้เสียง 1 ใน 3 หรือ 84 คน มาร่วมลงชื่อสนับสนุนให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปลี่ยนแปลงหรือไม่. – สำนักข่าวไทย