รัฐสภา 15 ต.ค. – “วันนอร์” เด้งรับ หลังคลิปเสียงนักการเมืองเอี่ยว “ดิไอคอน” ขันนอต กมธ. 35 คณะ ตั้งคนนอกนั่งคณะทำงาน จี้ถอดชื่อ หากไม่น่าเชื่อถือ ไม่เช่นนั้นต้องรับผิดชอบทำสภาเสียชื่อเสียง สั่ง รปภ.คุมเข้มคนนอกเข้า-ออกสภา หวั่นมีผู้แอบอ้าง ซ้ำ 2 คดีที่แจ้งความแล้ว
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้าตั้งกรรมการสอบกรณีคลิปเสียงที่มีการสนทนาระหว่าง “บอสพอล” นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ ดิไอคอน กรุ๊ป กับผู้ที่อ้างว่าเป็นนักการเมือง ว่า เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (15 ต.ค.) ตนได้เรียกเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กับคณะที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยของรัฐสภา มาพูดในหลายเรื่อง แต่เฉพาะเรื่องของคลิปเสียงนี้ ซึ่งฟังแล้วไม่ได้ระบุว่าเป็นใคร เพราะฉะนั้นถ้ามีผู้แจ้งมา แต่อ้างเรื่องกรรมาธิการ และกรรมาธิการแจ้งว่าได้รับความเสียหาย ทางสภาก็ต้องดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะกรรมาธิการที่จะร้อง ถ้าประชาชนที่เกี่ยวข้อง และได้รับความเสียหายจากคลิปเสียงนี้ อย่างน้อยก็คือคู่สนทนา ถ้าเขาสามารถบอกว่าเขาเสียหาย ก็มาแจ้งสภา ทางสภาก็จะดำเนินการ เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องของกรรมาธิการในชุดนั้นว่าเกิดความเสียหายแล้ว เราจึงต้องดำเนินการต่อไป
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของคนที่ไปแอบอ้างในกรรมาธิการ มาถ่ายรูปในสภา เพื่อใช้ประโยชน์ในการที่จะไปเรียกร้องในเรื่องต่างๆ จากบุคคลภายนอก ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายได้ เรื่องนี้ก็ได้ดำเนินการแจ้งความแล้วใน 2 เรื่อง คือ เรื่องแรกที่เป็นสุภาพสตรี แต่งกายชุดข้าราชการ ได้แจ้งความตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาแล้ว ส่วนเรื่องผู้ชายที่ไปถ่ายรูปในห้องประชุม ซึ่งเมื่อดูจากวิดีโอแล้วเป็นภาพวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา เพราะวันนั้นที่ประชุมมีการพิจารณาเลือกรองประธานสภาฯ คนที่ 2 และเมื่อประชุมจบแล้ว สภาก็ปิดการประชุม ในช่วงที่ปิด เจ้าหน้าที่กองการประชุม กำลังนำเอกสารไปไว้ในห้องประชุม เพื่อเตรียมการประชุมในวันต่อไป ในระหว่างนั้นผู้ชายคนดังกล่าวเข้าไปในห้องประชุมไม่กี่นาทีแล้วถ่ายรูป เพื่อให้เห็นว่าเขาอยู่ในห้องประชุม ซึ่งกรณีนี้ได้แจ้งความที่สถานีตำรวจแล้ว เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ทั้งสองคนนี้เป็นบุคคลที่มีคดีตามศาลต่างๆ เป็น 10 คดีแล้ว ก็ถือโอกาสมาหาเรื่องที่สภาอีก สภาก็ได้ดำเนินการไปแล้ว
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่า ตนได้กำชับกับเลขาธิการสภาฯ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ว่า ต่อไปนี้เราจะต้องเข้มงวดในเรื่องของคนข้างนอกที่จะเข้ามาข้างในสภามากยิ่งขึ้น และตนจะออกหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการสามัญทั้ง 35 คณะ และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ว่าให้ตรวจสอบบุคคลต่างๆ ที่ตั้งเป็นที่ปรึกษา หรือคณะทำงานของคณะกรรมาธิการ ว่ามีบุคคลใดที่ไม่น่าเชื่อถือ ขอให้พิจารณาเพื่อถอดถอนออกจากกรรมาธิการ เพราะถ้าเรื่องเกิดขึ้น ไม่ว่าจะในกรรมาธิการชุดใด ถ้ามีที่ปรึกษาหรือคณะทำงานนั้นไปแอบอ้าง เกิดความเสียหายแล้ว คนแต่งตั้งคือประธานกรรมาธิการ จะต้องรับผิดชอบอย่างน้อยที่สุดคือประมวลจริยธรรม เพราะประมวลจริยธรรมของสมาชิกรัฐสภา ครอบคลุมไปถึงครอบครัว สส. และครอบครัวของกรรมธิการ และถ้าเหตุการณ์ร้ายแรงก็ต้องส่งไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามกฎหมาย แต่ถ้าไม่ร้ายแรงก็มีบทลงโทษตามขั้นตอนของสภา ถ้าเป็นกรรมาธิการ แต่ไม่ใช่ สส. ก็ไล่ออก แต่ถ้าทำผิดเกี่ยวกับคดีอาญา เราก็ต้องดำเนินการไม่ละเว้น โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาดำเนินการต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับประชาชน เพื่อไม่ให้หลงเชื่อว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสภา ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้มีมากมายอะไร แต่ถ้ามีเราก็ต้องแก้ไข
เมื่อถามว่า การตั้งกรรมการสอบบุคคลแอบอ้าง จะต้องมีการตั้งกรรมการกลางขึ้นมาหรือไม่ เพราะหากให้กรรมาธิการสอบกันเอง เขาอาจจะละเว้นได้ ประธานสภาฯ กล่าวว่า ความจริงในสภาฯ เรามีกรรมาธิการพิจารณาเรื่องนี้ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต หรือไปแอบอ้าง ก็สามารถให้คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร หรือเกี่ยวข้องกับผู้บริโภค ก็ให้คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค ดำเนินการเรียกผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงได้ แต่ถ้านอกเหนือจากอำนาจของกรรมาธิการก็ส่งมาให้สภา ซึ่งทางสภาจะดำเนินการ ถ้าผิดอาญาก็ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถ้าผิดจริยธรรมก็ให้คณะกรรมการจริยธรรมของสภาสอบสวนต่อไป ซึ่งในคณะกรรมการจริยธรรม ก็มีหลายอนุกรรมการ ซึ่งแต่ละคณะจะมีทั้งตำรวจ อัยการ และอดีตผู้พิพากษา เป็นกรรมการอยู่แล้ว แต่ขั้นตอนอาจจะช้ากว่าการไปร้องที่ ป.ป.ช. โดยตรง เช่น ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน มีหลายเรื่องที่เขาไม่ร้องสภา แต่ไปร้อง ป.ป.ช. ก็ถูกลงโทษไป 1-2 ราย ดังนั้น การร้องจริยธรรมสามารถร้องมาที่คณะกรรมการจริยธรรมของสภาได้ หรือจะร้องไปที่ ป.ป.ช. เมื่อ ป.ป.ช. ตรวจสอบแล้วว่ามีมูล ก็จะส่งเรื่องไปที่ศาลฎีกาได้เลย
เมื่อถามว่า กรณีของดิไอคอน มีการย้อนไปถึงกรรมาธิการในช่วงปี 2565 สภาชุดปัจจุบันสามารถตรวจสอบอย่างไรได้หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ถ้ากรรมการชุดที่แล้วเขาพ้นสภาพไปแล้ว แต่ถ้าต่อเนื่องมาสภาชุดปัจจุบัน คนคนนั้นยังมาเป็นกรรมาธิการอยู่ในชุดนั้นต่อไป หรือได้รับการแต่งตั้งในสมัยนี้ สภาชุดนี้ก็สอบได้ อย่างไรก็ตาม แม้กรรมาธิการชุดที่แล้วจะพ้นไปแล้ว แต่ถ้าเกิดความเสียหาย คนภายนอกก็สามารถร้องได้ โดยไปร้องที่สถานีตำรวจ
เมื่อถามย้ำว่า จะทำให้รัฐสภาเสื่อมเสียหรือไม่ ประธานสภาฯ กล่าวว่า อะไรที่เป็นอำนาจหน้าที่ที่รัฐสภาทำก็ต้องทำ เพื่อประโยชน์ของประชาชน และเพื่อความน่าเชื่อถือของสภา เพราะกรรมาธิการทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ถ้าประชาชนไม่เชื่อถือ ก็ไม่เป็นประโยชน์ ฉะนั้นเราต้องรักษาความเชื่อถือ ความเชื่อมั่นของประชาชน ที่มีต่อระบบนิติบัญญัติของเราให้ได้ ซึ่งเราก็พยายามเต็มที่ ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องให้ไปติดคุกติดตะราง แต่อย่างน้อยที่สุดต้องสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนและของฝ่ายนิติบัญญัติ.-315-สำนักข่าวไทย