กรุงเทพฯ 31 ต.ค. -“สนธิรัตน์” ให้นโยบาย ทั้ง สนพ.-พพ. เน้นให้พลังงานช่วยเศรษฐกิจฐานราก –เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ย้ำปรับโครงสร้างราคาน้ำมันไม่เน้นลดราคา แต่ทำให้เกิดต้นทุนต่ำแข่งขันได้
วันนี้ (31.ต.ค.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เดินทางไปตรวจเยี่ยมทั้งกรมพัฒนาพลังงานทดแทน พพ.)และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)โดยระบุว่า ต้องการให้หน่วยงานของกระทรวงฯเร่งทำแผนให้พลังงานสร้างประโยชน์แก่เศรษฐกิจฐานรากให้มากที่สุด เพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชน โดยเฉพาะ พพ.ที่ควรทำอย่างไรให้โครงการพลังงานทดแทน โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ให้สอดประสานกับ”ประชารัฐสร้างไทย” ที่สอดคล้อง กับแผนงานของ ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), กองทุนหมู่บ้านและสภาเกษตรกร
ส่วน สนพ.ได้ให้นโยบายเร่งกรอบของโรงไฟฟ้าชุมชนให้เสร็จในกลางเดือน พ.ย.นี้ และ เดินหน้า ปรับโครงกสร้างราคาน้ำมัน นั้นเป้าหมายหลัก ไม่ได้หวังลดราคาน้ำมันของประเทศแต่ให้ดูถึงการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศว่าจะปรับอย่างไรให้ต้นทุนเหมาะสมแข่งขันได้ เช่นเดียวกับการทำงานปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี 2018) ,การทำงานของกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ,การทำงานของ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะต้องมีการทบทวนตามเป้าหมายสร้างขีดความสามารถของประเทศให้ได้มากที่สุด
รมว.พลังงาน กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการเร่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีให้เสร็จเร็วขึ้น 2-3 ปีนั้น ได้ให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พิจารณาว่า สามารถเร่งได้ หรือไม่ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องดูว่า ต้องปรับปรุงแผนพีดีพีอย่างไร การเร่งมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด และท้ายที่สุดก็ต้องดูว่าการจัดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี เพื่อ โรงไฟฟ้าแห่งนี้ จะดำเนินการอย่างไร
ทั้งนี้ โครงการที่ รมว.พลังงานเร่งรัด ในส่วนของโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี จำนวน 2 โรง รวมกำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ สร้างให้เร็วขึ้น 2-3 ปี จากเดิมสร้างเสร็จปี 2570 และ 2571 ก็ให้ปรับให้สร้างเสร็จปี 2568 และ 2569 คาดเงินลงทุนประมาณ 70,000 ล้านบาท, โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 500-1,000 เมกะวัตต์ ที่กำหนดให้มีการประกาศแผนชัดเจนในเดือน พ.ย.นี้ เงินลงทุนราว 2-2.5 แสนล้านบาท , โครงการรับซื้อโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ ให้เข้าระบบภายในปี 2565 ,ในขณะที่ พพ. ศึกษา เพิ่มสัดส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ 500 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลรวม 118 เมกะวัตต์ โดยจะมีการประกันการรับซื้อไฟฟ้าจากเกษรตรกรที่ปลูกพืชพลังงานอย่างชัดเจน เช่น หญ้าเนเปียร์ ไผ่โตเร็ว เป็นต้น -สำนักข่าวไทย