กรมสุขภาพจิต 16 ต.ค.-กรมสุขภาพจิต แนะ5 วิธีปฏิบัติจากการถูกระรานทางไซเบอร์ ‘อย่าตอบสนองข้อความกลั่นแกล้ง-ไม่เอาคืน-เก็บหลักฐาน- รายงานความรุนแรง-ตัดช่องทางการติดต่อ’
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสภาพสังคมในปัจจุบันที่เกิดปัญหาการระรานทางไซเบอร์ (Cyberbullying) นับวันยิ่งมีมากขึ้น เนื่องจากสื่อสังคมออนไลน์เป็นสื่อที่เข้าถึงได้ง่ายและสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา ซึ่งการระรานทางไซเบอร์ หมายถึง การกลั่นแกล้ง การให้ร้าย การต่อว่า หรือการรังแกผู้อื่นทางสื่อสังคมต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์
โดยสาเหตุของการระรานอาจเกิดขึ้นได้ ทั้งจากการแกล้งกันเล็กๆ น้อยๆ ล้อเล่นกันขำๆ แล้วบานปลายไปด้วยความไม่ตั้งใจ หรืออาจเกิดจากความขัดแย้ง ความเกลียดชัง ทั้งที่มีเหตุผลและไม่มีเหตุผล อาจแค่ไม่ชอบหน้า หรือความคิดเห็นบางอย่างไม่ตรงกัน แล้วใช้พื้นที่ในโลกออนไลน์โจมตีกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ที่โดนระราน อาจทำให้เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ และอาจจะมีปัญหาสุขภาพจิตตามมา เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือมีความคิดอยากตาย เป็นต้น
อีกทั้งในบางรายอาจเปลี่ยนตัวเองกลายเป็นแกล้งคนอื่นต่อไป คล้ายกับที่ตัวเองเคยโดนแกล้ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรง และความสามารถในการรับมือของผู้ถูกกลั่นแกล้งด้วย
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการป้องกันการใช้สื่อออนไลน์ในทางที่ผิดสำหรับผู้ที่ใช้สื่อออนไลน์ ควรมีการเขียนข้อความหรือตอบข้อความต่างๆ ด้วยความระมัดระวัง ควรใช้เวลาในการไตร่ตรองข้อความที่ตนเองจะเขียน เสนอความเห็นต่างอย่างสร้างสรรค์ ให้โอกาสผู้อื่นได้อธิบายเสนอความคิดเห็น เปิดใจยอมรับมุมมองของผู้อื่นที่มีต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเน้นการเอาใจเขามาใส่ใจเรา หากมีสิ่งไหนที่เราไม่ชอบ ก็ไม่ควรนำไปใช้กับบุคคลอื่น หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงเพื่อโจมตีบุคคลอื่น หรือวิจารณ์อย่างรุนแรง โดยขาดข้อมูลที่สนับสนุนอย่างรอบด้าน และหยุดส่งต่อข้อความที่รุนแรงเหล่านั้นออกไปโดยไม่มีขอบเขต ซึ่งหากทุกคนสามารถช่วยสนับสนุนให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เชิงบวกได้อย่างกว้างขวางแล้ว จะช่วยลดการระรานกันทางไซเบอร์ไปได้
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อไปอีกว่า กรมสุขภาพจิตขอแนะนำวิธีการจัดการกับการถูกระรานทางไซเบอร์ โดยเริ่มต้นด้วยการประเมินการใช้งานโซเชียลมีเดียของตนเอง ปรับเวลาการใช้งานให้เหมาะสม ใช้เวลากับผู้คนในชีวิตจริงมากขึ้น หากเมื่อเกิดการระรานขึ้นกับตัวคุณ สามารถปฏิบัติได้ดังนี้
1. อย่าตอบสนองข้อความกลั่นแกล้ง ไม่ว่าข้อความนั้นจะรุนแรงต่อเราขนาดไหน ก็อย่าเขียนตอบโต้ เพราะจะทำให้สถานการณ์แย่ลง และนั่นเป็นสิ่งที่ผู้ระรานต้องการให้เกิดขึ้น
2.ไม่เอาคืน การแก้แค้นหรือตอบโต้ด้วยวิธีเดียวกันจะทำให้ไม่ต่างจากคนที่กลั่นแกล้งเรา อาจทำให้เรากระทำความผิดและเป็นจำเลยสังคมแทน
3. เก็บหลักฐาน บันทึกภาพและข้อความที่ทำร้ายคุณ เพื่อรายงานต่อผู้ปกครองหรือผู้บังคับใช้กฎหมาย
4. รายงานความรุนแรง ส่งข้อมูลรายงาน (report) ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับทางโซเชียลมีเดีย
และ 5. ตัดช่องทางการติดต่อ โดยลบ แบน บล็อก ทุกช่องทางการเชื่อมต่อกับคนที่มาระราน ระมัดระวังการติดต่อกับคนกลุ่มนี้ในอนาคต .-สำนักข่าวไทย