กรุงเทพฯ 4 ต.ค. – อีเอ ลงทุนครบวงจรยานยนต์ไฟฟ้า ผลิตทั้งเรือ-รถยนต์นั่ง-รถยนต์ขนาดใหญ่-แบตเตอรี่-สถานีชาร์จไฟฟ้า เตรียมปรับกลยุทธ์หั่นราคาขายหลังคู่แข่งกำหนดราคาต่ำกว่า
นางออมสิน ศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทีมกำลังพิจารณากลยุทธ์การแข่งขันรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ภายใต้แบรนด์ “MINE” ที่ประกาศราคาไปก่อนหน้านี้ว่าไม่เกิน 1.2 ล้านบาท ขณะที่มีแบรนด์คู่แข่งกำหนดราคาจำหน่ายต่ำกว่า ซึ่งปัจจัยราคาก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาควบคู่ไปกับด้านอื่น ๆ โดยล่าสุดมียอดสั่งจองแล้ว 4,500 คัน เริ่มทยอยส่งมอบตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563
“ขณะนี้ทีมปรับกลยุทธ์แข่งขันให้มียอดจองเพิ่มขึ้น หากดูราคาอย่างเดียวอาจไม่แฟร์ ต้องดูคุณสมบัติอื่น ๆ ประกอบด้วย โดยเฉพาะระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ของ “MINE” ใช้ได้ 8,000 รอบการชาร์จ หรือนานกว่า 10 ปี ชาร์จแต่ละครั้งวิ่งได้ 200-250 กม.” นางออมสิน กล่าว
ทั้งนี้ อีเอ เดินหน้าลงทุนธุรกิจอีวีทั้งผลิตรถยนต์อีวี ,แบตเตอรี่อีวีและระบบกักเก็บไฟฟ้า (Energy Storage ,ผลิตเรือไฟฟ้าและให้บริการแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงสถานีประจุไฟฟ้า ล่าสุดร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อร่วมดำเนินโครงการผลิตรถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีคำสั่งซื้อเข้ามาบ้างแล้ว โดยจะใช้พื้นที่เดียวกับการประกอบรถยนต์นั่งอีวี จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างและพร้อมที่จะเริ่มประกอบรถยนต์ปี 2563 ซึ่งเดิมมีเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 10,000 คัน/ปี ก็จะมีการขยายสเกลขึ้นมา เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ขณะที่โรงงานผลิตแบตเตอรี่ อยู่ระหว่างก่อสร้างและจะเสร็จกลางปี 2563
นางออมสิน กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีอีวี และรถไฮบริดทั่วประเทศ 40,000 คัน มีแนวโน้มเติบโตตามเทรนด์ของโลก ทำให้บริษัทเข้าร่วมทุนธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอีวี โดยตั้งโรงงานแบตเตอรี่ เฟสแรก ขนาด 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ด้วยเงินลงทุน 5,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการใช้สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า-เรือไฟฟ้า ร้อยละ 40 ส่วนอีกร้อยละ 60 จะใช้สำหรับในระบบกักเก็บพลังงาน เฟสแรกจะเสร็จกลางปี 2563 หลังจากนั้นจะใช้ระยะเวลาหนึ่งก่อนจะขยายเฟส 2 ต่อไป ขณะที่เป้าหมายการผลิตจะอยู่ที่ 50 GWh ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีก 3 ปี เงินลงทุนรวมกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งช่วงแรกจะนำแบตเตอรี่จากพันธมิตรที่ไต้หวันเข้ามาใช้ในรถยนต์รุ่นแรกก่อน หลังจากนั้นจะใช้แบตเตอรี่จากโรงงานของบริษัทเพื่อประกอบรถยนต์ ส่วนมอเตอร์รถยนต์ไฟฟ้าใช้เทคโนโลยีไต้หวัน แต่ผลิตในจีน และบริษัท เตรียมนำ Energy Storage ไปใช้ในระบบผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ซึ่งมีแผน ลงทุนในเวียดนามและเมียนมา
ด้านธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) นั้น ปัจจุบันมีอยู่กว่า 400 แห่งทั่วประเทศ และคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีทั้งสิ้น 600-700 แห่ง และจะครบ 1,000 แห่งในปี 2563 โดยต้นทุนค่อนข้างต่ำ เพราะบริษัทได้เข้าไปถือหุ้นกว่าร้อยละ 40 ใน GROWATT ผู้ผลิตสถานีชาร์จและอุปกรณ์ในจีน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทยังไม่สามารถกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าในการให้บริการ EV Charging ได้เพราะต้องรอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดอัตราออกมาก่อน ดังนั้น รายได้จาก EV Charging ปัจจุบันจะมาจากการเก็บค่าจอดตามระยะเวลาในอัตราชั่วโมงละ 50 บาท และบางจุดเปิดให้บริการฟรี ซึ่งกำไรที่ได้จะแบ่งสัดส่วนกันกับพันธมิตร อย่างไรก็ตาม คาดว่าธุรกิจดังกล่าวน่าจะเริ่มเห็นกำไรปี 2563
“เชื่อรายได้ปีนี้ทะลุ 15,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากประมาณ 12,000 ล้านบาทปีก่อน และปี 2563 จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 20 จากปีนี้ เพราะเมื่อธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะรถอีวี เริ่มทยอยเข้าระบบน่าจะเริ่มเห็นสัดส่วนรายได้ของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า” นางออมสิน กล่าว.-สำนักข่าวไทย